ในการพัฒนาสมองของผู้เรียน ให้ใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่าการจัดการเรียนการสอนนั้น ควรจัดอย่างสมดุล ให้มีการพัฒนาสมอง ทั้งซีกซ้ายไปด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสมดุล ในการคิด และคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เอนเอียงไปในหลักการเหตุผลมาก เสียจนคิดอยู่ในกรอบ ของความคิดแบบเดิม
ยุคอนาคตนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วมากขึ้น เพราะมีการสื่อสารความคิด และความรู้สึกกันได้ อย่างง่ายดาย และอย่างกว้างขวาง ด้วยวิทยาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีการก่ายกันขึ้นไปบนฐานความรู้ ที่นับวันฐานนั้นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คนที่จะได้รับการยอมรับอย่างโดดเด่น จึงต้องเป็นคนที่คิด และทำ แตกต่างจากคนอื่นทั่วไป นั่นคือ มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะต่องานที่ต้องการ ความแปลกแตกต่าง เช่น ธุรกิจ ต้องการสร้างจุดขายสินค้า หรือบริการเพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่เสมอ องค์กรต่างๆ ต้องการการปฏิรูปภายใน ภาพรวมระดับประทศ ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ในการปฏิรูปครบวงจร ทั้งประเทศ เป็นต้น กิจการเหล่านี้ ล้วนต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น
ความคิดสร้างสรรค์ในนิยามของผม ควรจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ประการแรก สิ่งใหม่ (new, original) เป็นการคิดที่แหวกวงล้อมความคิดที่มีอยู่เดิม ที่ไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร แม้กระทั่งความคิดเดิมๆ ของตนเอง ประการที่สอง ใช้การได้ (workable) เป็นความคิดที่เกิดจากการสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้ง และสูงเกินกว่าการใช้เพียง "จินตนาการเพ้อฝัน" คือ สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นจริง และใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม และสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ ของการคิดได้เป็นอย่างดี และประการที่สาม มีความเหมาะสม เป็นความคิดที่สะท้อนความมีเหตุมีผล ที่เหมาะสม และมีคุณค่า ภายใต้มาตรฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
การที่คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ ได้ตามลักษณะที่กล่าวมานั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพการทำงาน และการพัฒนาของสมอง ซึ่งสมองของคนเรามี 2 ซีก มีการทำงานที่แตกต่างกัน สมองซีกซ้าย ทำหน้าที่ในส่วนของการตัดสินใจ การใช้เหตุผล สมองซีกขวา ทำหน้าที่ในส่วนของการสร้างสรรค์ แม้สมองจะทำงานต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมองทั้งสองซีก จะทำงานเชื่อมโยงไปพร้อมกัน ในแทบทุกกิจกรรมทางการคิด โดยการคิดสลับกันไปมา อย่างเช่น การอ่านหนังสือ สมองซีกซ้ายจะทำความเข้าใจ โครงสร้างประโยค และไวยากรณ์ ขณะเดียวกัน สมองซีกขวาก็จะทำความเข้าใจ เกี่ยวกับลีลาการดำเนินเรื่อง อารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในข้อเขียน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาสมองทั้งสองซีกไปพร้อมๆ กัน ไม่สามารถแยกพัฒนาในแต่ละด้านได้ การค้นพบหน้าที่แตกต่างกันของสมองทั้งสองส่วน ช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากได้มากขึ้น
ในการพัฒนาสมองของผู้เรียน ให้ใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านการจัดการเรียนการสอนนั้น ควรจัดอย่างสมดุล ให้มีการพัฒนาสมองทั้งสองซีกไปด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสมดุลในการคิด และคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เอนเอียงไปในหลักการเหตุผล มากเสียจนติดอยู่ในกรอบ ของความคิดแบบเดิม และไม่ใช่การคิดด้วยการใช้จินตนาการเพ้อฝันมากเกินไป จนไม่มีความสัมพันธ์กัน ระหว่างความฝัน กับความสมเหตุสมผล ซึ่งจะทำให้ไม่สมารถนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การคิดสร้างสรรค์ จึงพึ่งพาทั้งสมองซีกซ้าย และขวาควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม การที่คนแต่ละคนจะคิดสร้างสรรค์ได้มากน้อย เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญหลายประการ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีควรมีทุกคน เพราะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในตนเอง ได้แก่
1. องค์ประกอบด้านทัศนคติ และบุคลิกลักษณะ
คนที่รู้เพียงเทคนิควิธีการคิดสร้างสรรค์นั้น อาจจะสามารถคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมีทัศนคติ และบุคลิกภาพในเชิงที่สร้างสรรค์ เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย บุคคลนั้นจะสามารถคิดสร้างสรรค์ ได้อย่างดีมาก นักคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ จะมีทัศนคติ และบุคลิกลักษณะหลายประการ อาทิ เป็นคนที่เปิดกว้างต่อการรับประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยท่าทีที่ยินดี จะเรียนรู้เสมอ มีอิสระในการคิดพินิจ และตัดสินใจ กล้าเผชิญความเสี่ยง มีความเชื่อมั่น และเป็นตัวของตัวเอง มีทัศนคติเชิงบวก ต่อสถานการณ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย มีแรงจูงใจอันสูงส่ง ที่จะประสบความสำเร็จ เป็นคนที่ยินดีทำงานหนัก มีความสนใจต่อสิ่งที่มีความสลับซับซ้อน อดทนต่อปัญหาที่ยังมองไม่เห็นทางออก หรือคำตอบ บากบั่น อุตสาหะ เรียนรู้จากความล้มเหลว ให้เป็นบทเรียนของชีวิต และสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยมีความสุขุม และมีความมั่นคงในจิตใจเพียงพอ
2. องค์ประกอบด้านความสามารถทางสติปัญญา
ความคิดสร้างสรรค์ จัดว่าเป็นทักษะระดับสูง ของความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถเหล่านี้ ได้แก่
ความสามารถในการกำหนดขอบเขต ของปัญหา ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ จะไม่มองปัญหาที่เห็นอยู่ตรงหน้า ด้วยสายตาธรรมดา หรือด้วยความคิดที่ไม่สู้ แต่มองด้วยมุมมองแบบใหม่ เพื่อทำให้เห็นทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เหมาะสมกว่า โดยเริ่มต้นด้วยการให้นิยาม หรือกำหนดขอบเขตของปัญหา ที่ต้องการแก้ไขได้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงตั้งเป้าหมาย เพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น ในแนวทางที่สร้างสรรค์กว่าเดิม
ความสามารถในการใช้จินตนาการ ในการพิจารณาปัญหา เพื่อนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ การวาดภาพจากจินตนาการ ช่วยทำให้การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เกิดได้ง่ายขึ้น เช่น การที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) สามารถพัฒนาทฤษฎีสัมพันธภาพ ได้จากการวาดภาพว่า ตนเองกำลังท่องเที่ยวไปบนลำแสง ที่ยาวไกลลำแสงหนึ่ง
ความสามารถในการคัดเลือกอย่างมียุทธศาสตร์ มีลักษณะดังเช่น ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ความสามารถในการมุ่งสู่หนทาง การแก้ปัญหาที่มีศักยภาพ ความสามารถในการตัดทางเลือก ที่ไม่เกี่ยวข้องออก ความสามารถในการรู้ว่า เวลาใดจะต้องใช้การคิดแบบใด จึงจะเหมาะสม และช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ เป็นต้น
ความสามารุในการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ การที่เราจะได้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดนั้น เราควรจะมีความสามารถ ในการแยกแยะ และคัดเลือกความคิดที่ดี และเหมาะสมท่ามกลางแนวความคิด ที่เป็นไปได้มากมาย โดยคัดเลือกเฉพาะความคิด ที่มีความสอดคล้องกัน มารวบรวมประกอบกัน เพื่อสร้างเป็นความคิดใหม่ขึ้น และนำความคิดใหม่ที่ได้นั้น มาพิจารณาประเมินคุณค่า ในลำดับต่อไป ความสามารถในการประเมิน ทำให้เกิดคววามก้าวหน้าในการแก้ปัญหา อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ ความปรารถนาที่จะให้ได้คำตอบ ที่มีคุณภาพสูง เป็นสิ่งใหม่ที่ดีกว่า และมีความเหมาะสมยิ่งกว่า
3. องค์ประกอบด้านความรู้ ความรู้เป็นเหมือนดาบสองคม ที่มีผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในมุมบวก และมุมลบ จากการศึกษาวิจัยของ Rosenman, M.F. ใน Jurnal of Creative Behavior ใน 1988 พบว่า ความรู้ที่สะสมมาเป็นเวลาหลายปีนั้น มีความสำคัญต่อการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คนที่มีความรู้ มักจะคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าคนที่ไม่มีความรู้ เพราะทำให้เข้าใจธรรมชาติของปัญหาได้กว้าง และลึกซึ้งกว่าคนที่ขาดฐานข้อมูลความรู้ ช่วยทำให้เราสามารถคิดงานที่มีคุณภาพ เพราะมีรากฐานของความรู้ เกี่ยวกับเรื่องนั้นรองรับ และช่วยกระตุ้นให้มีการคิดต่อยอดความรู้ต่อไป อันเกิดจากการได้รับความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้รับ หรือมีอยู่ มาขบคิด และก่อร่างขึ้นเป็นต้นกำเนิดของความคิดอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ความรู้กลับอาจเป็นตัวขัดขวาง ความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย หากยึดติดในความรู้ที่มีอยู่มากเกินไป จนเป็นอุปสรรค ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการคิดออกนอกกรอบ หรือคิดจากมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างขวางขึ้น
4. องค์ประกอบด้านรูปแบบการคิด รูปแบบการคิดของแต่ละคน มีผลต่อการรับรู้ และบุคลิกลักษณะของคนๆ นั้น รูปแบบการคิดจะช่วยให้เกิดการประยุกต์ ความสามารถทางสติปัญญา และความรู้ของคนๆหนึ่ง ในการแก้ปัญหา คนสองคนอาจจะมีระดับสติปัญญาเท่าเทียมกัน ต่างกันตรงรูปแบบการคิด งานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่า รูปแบบการคิดของคนบางคน ช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่รูปแบบการคิดของบางคน ขัดขวางการคิดสร้างสรรค์ เช่น ความสมดุลในการคิด แบบมองมุมกว้าง กับการคิดแบบมองมุมแคบ การคิดในมุมแคบ เป็นการคิดแบบลงในรายละเอียดของปัญหา ส่วนการคิดในมุมกว้าง เป็นการคิดแบบมองกว้าง ในระดับทั่วไปของปัญหา ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มักจะต้องมองในภาพกว้างก่อน หรือคิดในมุมกว้างก่อน จากนั้น จึงค่อยพิจารณาลงในรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ ให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ที่สุด
5. องค์ประกอบด้านแรงจูงใจ แรงจูงใจเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่กระตุ้นให้คนต้องการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีทั้งแรงจูงใจภายใน และแรงกระตุ้นจากภายนอก แรงจูงใจกระตุ้นจากภายใน ที่มีประโยชน์ต่อความคิดสร้างสรรค์ เช่น ความต้องการประสบความสำเร็จ ความต้องการสิ่งใหม่ๆ การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น เป็นต้น คนที่มีแรงกระตุ้นจากภายใน มักจะบอกว่า เขาทำงานนี้ เพราะรู้สึก "สนุก" หรือไม่ก็ค้นพบว่า มัน "น่าสนใจ" และจะพึงพอใจ เมื่องานที่ทำนั้นประสบความสำเร็จ ส่วน แรงกระตุ้นจากภายนอก จะมีลักษณะตรงกันข้าม คือ การที่สิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นผู้ยื่นเสนอรางวัล ยกตัวอย่างเช่น เงิน ความก้าวหน้าในการทำงาน การได้รับการยกย่องจากหัวหน้างาน การมีชื่อเสียง การได้รับรางวัล เป็นต้น จากการศึกษา พบว่า คนที่ถูกกระตุ้นด้วยรางวัลนั้น จะมีความคิดสร้างสรรค์ต่ำกว่า คนที่มีแรงกระตุ้น จากความต้องการที่อยู่ภายใน หรือการได้รางวัลที่ไม่เกี่ยวข้อง กับงานที่ทำอยู่ อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจจากภายใน และภายนอกที่ผสมผสานกันอย่างสมดุล จะช่วยให้การทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ บรรลุวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี
6. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม การที่คนเราจะสามารถคิดสร้างสรรค์ ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมร่วมด้วยเป็นสำคัญ คนที่มีลักษณะการสร้างสรรค์ มักเป็นผู้ที่ได้รับการกระตุ้น และได้รับการส่งเสริมสนับสนุน โดยการสร้างบรรยากาศ ที่ไม่มีการสร้างกรอบมาตรฐานมาบีบรัด อันได้แก่ สังคมที่ส่งเสริมสิทธิแสรีภาพ ในการแสดงออกของประชาชน สังคมที่ส่งเสริมความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม สังคมที่มีแบบอย่าง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สังคมที่ให้รางวัล และสนับสนุนคนที่คิดแตกต่าง สังคมที่ส่งเสริมการแข่งขัย ทางธรกิจอย่างเสรี บริบทสังคมเช่นนี้ ย่อมส่งเสริมให้คในสังคมนั้น มีความคิดสร้างสรรค์
ในทางตรงกันข้าม คนบางคน หรือกลุ่มคนในบางสังคม อาจเรียกได้ว่า เป็นคนที่ขาดความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่หล่อหลอมให้พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ ของคนในสังคมนั้นๆ หยุดชะงักลง เช่น สังคมที่ยึดมั่นการดำเนินชีวิต ตามขนบธรรมเนียมประเพณีสังคม ที่มีลักษณะเผด็จการ ทำให้คนในสังคม ไม่กล้าคิดนอกกรอบ สังคมที่ไม่เห็นคุณค่าความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยอมรับความคิดที่คนๆ หนึ่งได้สร้างสรรค์ขึ้น และสังคมที่ไม่มีการสอนทักษะการคิดสร้างสรรค์ เช่น การเรียนการสอน ที่เน้นการท่องจำ โรงเรียนไม่มีบรรยากาศ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระ จึงทำให้ผู้เรียนเติบโตขึ้น อย่างขาดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น บริบทแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ มีผลทำให้การพัฒนาความสามารถ ด้านการคิดสร้างสรรค์หยุดชะงักลง
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบ ที่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สอน ในการนำไปประยุกต์เข้ากับ การจัดการเรียนการสอน เพื่อคิดหาเทคนิควิธีการ เพื่อนำมาฝึกฝนให้ผู้เรียน สามารถเป็นนักคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ นั่นหมายความว่า จะต้องเกิดการคิดสร้างสรรค์ เริ่มต้นที่ ผู้จัดการเรียนการสอนโดยตรงเสียก่อน ที่จะไม่ยึดกับกรอบรูปแบบเดิม หากรูปแบบเดิมนั้น ขัดขวางการคิดสร้างสรรค์ในผู้เรียน
ที่มา
เอกสารการสอนของท่านอาจารย์จตุพร ภูศิริภิญโญ
วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น