บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือนเจ็ด จัดทำได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม บุญซำฮะ คือ บุญซำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมือง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข เกิดโจรปล้นบ้าน ปล้นเมือง ฆ่าฟันรันแทง ผู้คนวัวควายล้มตายเพราะผีเข้า บ้านเมืองมีเหตุเภทภัยต่าง ๆ จึงทำบุญชำระล้างสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่เป็นอัปมงคลให้หมดไป บางแห่งทำเมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาลเมื่อทำบุญทำทานี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกว่า "ผีปู่ตา" หรือ "ตาปู่" หรือเจ้าบ้าน" ก็ทำพิธีเลี้ยงในเดือนเจ็ดนี้และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่น ๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ซึ่งเรียกว่า "ผีตาแฮก" ด้วย มูลเหตุที่มีการทำบุญซำฮะ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งพุทธกาลที่เมืองไพสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง เพราะฝนแล้ง และผู้คนตายเป็นอันมากเนื่องจากความอดอยากและเกิดอหิวาตกโรค บ้านเมืองจึงเต็มไปด้วยซากศพ กลิ่นคลุ้งไปทั่วเมือง ชาวเมืองจึงพากันไปอาราธนาพระพุทธเจ้าให้มาระงับเหตุเภทภัยพระพุทธเจ้าจึงเสด็จจากเมืองราชคฤห์พร้อมพระภิกษุ 500 รูปไปยังเมืองไพสารีโดยทางเรือ เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงบังเกิดผลตกห่าใหญ่ น้ำท่วมพื้นดินขึ้นถึงหัวเข่าพัดเอาซากศพลอยไปตามน้ำ พระองค์จึงให้พระอานนท์เรียนคาถา แล้วโปรดให้พระอานนท์ไปสวดมนต์ภายในกำแพงเมือง พร้อมกับนำบาตรน้ำมนต์ของพระองค์ไปประพรมจนทั่วเมืองด้วยบังเกิดให้ชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงมีประเพณีทำบุญซำฮะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คาถาที่กล่าวนั้นมีในรตสูตรว่า "ยังกิญจิ วิตตัง อิธวา หุรังวาฯ เปฯ ยถา นัมปทีโป อิทัมปิ สังเฆรัตนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ"
วิธีดำเนินการ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านพร้อมกันตั้งผามหรือปะรำขึ้นกลางหมู่บ้าน หรือที่ใดที่หนึ่งตามที่เห็นเหมาะสม มีต้นกล้วยผูกที่เสาปะรำทั้งสี่มุม เตรียมอาสนสงฆ์ กรวดทราย ซึ่งปรกติเอาไปจากบ้านของชาวบ้านทุกคน และหลักไม้ไผ่แปดหลักพร้อมเครื่องไทยทาน น้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขนกะให้ครบทุกคนในหมู่บ้านนั้นและเทียนเวียนหัว (เทียนยาวขนาดวัดรอบศรีษะ) บ้านละเล่ม แล้วนิมนต์พระสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปถึง 9 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น วันรุ่งขึ้นถวายอาหารบิณฑบาตรและเครื่องไทยทานแด่พระสงฆ์ สำหรับน้ำพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ใช้หญ้าคามัดเป็นกำจุ่มประพรมให้ชาวบ้าน และคนเฒ่าคนแก่ผูกแขนด้วยฝ้ายผูกแขนให้ชาวบ้านโดยทั่วกัน เสร็จแล้วหว่านกรวดหว่านทรายไปตามละแวกบ้าน เอาหลักทั้งแปดหลักที่เตรียมไว้ไปตอกไว้ในทิศทั้งแปด และวงด้วยด้ายสายสิญจน์รอบหมู่บ้านด้วย ถือว่าเป็นการป้องกันเสนียดจัญไรด้ายสายสิญจน์สำหรับขึงรอบหมู่บ้านนี้ บางแห่งใช้หญ้าคาดวั่นเป็นเส้นยาว ๆ แทนก็มีแต่ถ้าสงสัยว่าชะตาบ้านชะตาเมืองจะขาดให้ทำพิธีตอกหลักบ้านหลักเมือง ถ้าสงสัยว่าบ้านเมืองเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน อาจมีเทพดาอารักษ์หวงแหนเป็นบ่อน้ำ เป็นป่าช้าหรือเป็นที่วัดมาก่อน เป็นต้น ก็ให้ทำพิธีถอนหลักบ้านหลักเมืองเสียก่อนจึงตอกหลัก การทำบุญซะฮะนี้มักทำกันสามคืน โดยมีการฟังพระสวดมนต์ทุกเย็นและถวายอาหารบิณฑบาตทุกเช้าวันรุ่งขึ้น และในวันสุดท้ายของบุญซำฮะ นอกจากมีถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านจะนำสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เช่น ขยะมูลฝอย กระติบข้าว ตะกร้า หวด ฯลฯ ที่ชำรุดแล้ว กระบอกปลาร้าที่ไม่ได้ใช้ เศษหม้อ เศษถ้วยชามที่แตก เป็นต้น ขนไปทิ้งนอกหมู่บ้านอีกด้วย หรือทำการเผาหรือฝังให้บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อยถือว่าเป็นการนำสิ่งอัปมงคลออกจากบ้าน จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากสิ่งเสนียดจัญไรและโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง บุญซำฮะปรกติทำปีละครั้งแต่บางปีชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขอาจเว้นไม่ทำบ้างก็ได้ ในระหว่างเดือนเจ็ด นอกจากทำบุญซำฮะแล้ว บางแห่งประชาชนทำพิธีบวงสรวง "ผีอาฮักษ์" ประจำเมืองและ "ผีปู่ตา" ประจำหมู่บ้านตลอด "ผีตาแฮก" ตามทุ่งนา ก่อนลงมือทำนาด้วย เพื่อให้ประชาชนในเมืองและในหมู่บ้านนั้น ๆอยู่เย็นเป็นสุข และทำไร่ทำนาได้ผลดี ดังกล่าวแล้วข้างต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น