วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

ฮีตสิบสองคลองสิบสี่

http://www.geocities.com/thatmahachai/heet/00.htm
หากศึกษาประวัติความเป็นมาของชาวไทยอีสานจะเห็นว่าชาวไทยอีสานนั้นได้อพยพเคลื่อนย้ายลงจากแถบภูเขาอัลไตตอนใต้ของประเทศจีน ในหลายนามด้วยกันดังที่หมอดอดด์ กล่าวไว้ในจดหมายเหตุของจีนว่า “ ไทยมีชื่ออย่างน้อย ๓ ชื่อ ที่เหลือสืบมาจนถึงปัจจุบันคือ ปา ลุง และลาว เข้าใจว่าชื่อใดชื่อหนึ่งในชื่อทั้งสามนี้คงเป็นชื่อที่เรียกไทยมาแต่โบราณ จีนเรียกไทยเป็นหลายพวกด้วยกัน เช่น โท้ จุง ซอง ฯลฯ และพม่าเรียกว่า ซาน…ส่วนใหญ่แม้จะไม่ทั้งหมดเรียกตนเองว่า "ไทย"ชาวไทยอีสานในนามชนเผ่าดังกล่าวได้อพยพเคลื่อนย้ายมาทางใต้เรื่อยๆ นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่าเพราะหนีการรุกรานเบียดเบียนของชนเผ่าที่มีกำลังอำนาจ พลเมืองมากและแข็งแรงกว่า ด้วยความเป็นชนเผ่าที่รักอิสระ สงบ สมถะ จึงอพยพกันมาอย่างเป็นกลุ่มก้อน และแบ่งออกเป็น ๒ สายใหญ่ ๆ โดยมุ่งไปหาแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สายแรกมุ่งสู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ด้วยทราบว่ามีแม่น้ำคงและสาละวินอันอุดมสมบูรณ์ จึงไปตั้งหลักแหล่งที่นั่นและประกาศตนเป็นอิสระมีเมืองหลวงชื่อว่า “เมืองพง” หรือ “คง” ราว พ.ศ. ๘๐๐เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชาชนพลเมืองมากขึ้น มีกำลังและอำนาจทางทหารมากขึ้น ส่วนหนึ่งจึงคิดหาที่อยู่ใหม่ตามความนิยมของผู้คนสมัยนั้นจึงได้อพยพเคลื่อนย้ายไปตั้งภูมิลำเนาใหม่ทางตะวันตกตามลุ่มแม่น้ำเอราวดี ประกาศตนเป็นอิสระในนาม “ไทยใหญ่” และเป็นประเทศพม่าในปัจจุบัน ความเจริญเติบโตได้แผ่ขยายไปถึงเมืองยะไข่และลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในแคว้นอัสสัม ส่วนไทยอีกสายหนึ่งได้อพยพเคลื่อนย้ายมาทางใต้เรื่อย ๆ โดยมุ่งสู่ลำน้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำโขง ประกาศตั้งตนเป็นอิสระในแคว้นสิบสองจุไทยในนาม “ไทยน้อย” ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองแถงหรือแถน (เมืองเดียนเบียนฟูในเวียดนาม) มีผู้นำหรือกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์จนกระทั้งถึงสมัยของขุนบรมกษัตริย์แห่งแคว้นสิบสองจุไทย (ราว พ.ศ. ๑๒๗๔ - ๑๓๐๐) ถือเป็นยุคที่มีความรุ่งเรื่องมากทั้งพลเมืองและอำนาจ พระองค์ทรงมีพระโอรส ๗ องค์ คือขุนลอ ยีผาล้าน สามจุสง ไสผง งั่วอิน ลกกลม และเจ็ดเจืองหรือท้าวเจืองเพื่อต้องการแผ่อาณาจักรและขยายเมือง อำนาจ พระองค์จึงทรงส่งพระโอรสให้แยกกันไปครองอาณาจักรไทยได้ถึง ๖ อาณาจักร คือ
ขุนลอ ให้ไปครองอาณาจักรล้านช้าง (หลวงพระบาง)

ยีผาล้าน ให้ไปครองอาณาจักรสิบสองพันนา
สามจุสง ให้ไปครองอาณาจักรหัวพันทั้งห้าทั้งหก(ตังเกี๋ย)
ไสผง ให้ไปครองอาณาจักรโยนก (ลานนา)
งั่วอิน ให้ปกครองอาณาจักรอโยธนา (อยุธยา)
ลกกลม ให้ไปปกครองอาณาจักรหงสาวดี (มอญ)
เจ็ดเจืองหรือท้าวเจืองนั้นคงให้ครองอาณาจักรสิบสองจุไทยสืบแทนพระราชบิดาเช่นเดิม หากการณ์เป็นดังนักประวัติศาสตร์กล่าวมาก็จะเห็นได้ว่า ณ ดินแดนแถบนี้ (เวียดนาม ลาว ไทย พม่า เขมร ) ล้วนสืบเผ่าพงศ์พันธุ์สายโลหิตเดียวกัน มีแม่น้ำสาละวิน เอราวดี โขง และพรหมบุตรเป็นสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยง มีขนบประเพณี พิธีกรรมที่คล้ายคลึงกัน กาลต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนมีความคับคั่งแออัดมากขึ้นส่วนของไทยน้อยได้ตั้งอาณาจักรที่สำคัญที่ควรกล่าวถึง คือ

อาณาจักรล้านช้าง ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๓๐๐
อาณาจักรล้านนา ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐

อาณาจักรสุโขทัย ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๐๐
อาณาจักรอยุธยา ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๙๓
แต่ละอาณาจักรต่างมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อใคร โดยอาณาจักรล้านช้างตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนแล้วกระจายมาทางใต้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศลาวและภาคอีสานในปัจจุบัน อาณาจักรล้านนาตั้งอยู่ที่ทางลุ่มแม่น้ำโขงและแผ่กระจายลงมาทางใต้ตามลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จรดอาณาจักรสุโขทัย อันคือแถบถิ่นภาคเหนือตอนบนในปัจจุบันเลยไปถึงพม่า เชียงตุง อาณาจักรสุโขทัยตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำยม มีอาณาจักร ค่อนข้างกว้างใหญ่ อาณาจักรอยุธยาตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นักประวัติศาสตร์ค้นพบว่าทั้ง ๔ อาณาจักรดังกล่าวมีประวัติความเป็นมาจากแหล่งเดียวกัน เชื้อชาติภาษา สายโลหิตเดียวกัน แต่เพื่อความอิสระ ความสุข สงบ เป็นตัวของตัวเองอันเป็นพื้นฐานเดิมของชนเผ่านี้ จึงได้ย้ายถิ่นกันมาซึ่งอาจจะแยก ๔ อาณาจักรออกเป็น ๒ กลุ่ม หรือฝ่ายตามลักษณะความเป็นอยู่และการนิยมเรียกตัวเองในสมัยนั้น คือ กลุ่มแรกมีอาณาจักรล้านช้าง และล้านนา กลุ่มนี้มีประเพณีวัฒนธรรมที่เหมือนกันมากและมักเรียกตนเองว่า “ลาว” ส่วน ๒ กลุ่มหลัง คือ อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา ประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่างเหมือน ๒ อาณาจักรแรกแต่ก็มีการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สำเนียงพูดก็ปรับเปลี่ยนไปทั้ง ๒ อาณาจักรนี้มักจะเรียกตนเองว่า “ ไทย “ อันคำว่า “ ไทย “ หรือ “ไท” นี้มีปรากฏหลักฐานชัดเจนในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เช่นข้อความที่ว่า “ พ่อขุนรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไททั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไททั้งหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้แต่คนอันมีในเมืองไทด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรสง หาคนจักเสมอมิได้” หากศึกษาจำเพราะอาณาจักรล้านช้าง (อาณาจักรลาว) ก็จะเห็นได้ว่าเป็นอาณาจักรที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาอย่างมากในอดีต นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าก่อนนั้นอาณาจักรนี้เคยแผ่ขยายอาณาเขตมาปกครองแถบถิ่นดินแดนอีสาน ตั้งแต่ถิ่นนครเวียงจันทน์ หลวงพระบางมาจนถึงเมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน นับเป็นอาณาเขตที่กว้างขวางมากต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๘๔ ในสมัยกรุงธนบุรีอันเรียกตนเองว่า “ไทย”ได้แผ่ขยายอิทธิพลขึ้นมาเรื่อย ๆ จนอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) เสียดินแดนและอิสรภาพแก่ไทยอาณาจักรล้านช้างจึงถูกปกครองโดยไทยอยู่เป็นเวลานาน ต่อมาประเทศตะวันตก คือฝรั่งเศสได้ออกล่าอาณานิคมเมื่องขึ้นครั้นเข้าสู่อาณาจักรล้านช้าง (เดิม)ก็ขอทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในพ.ศ. ๒๔๓๖ แบ่งดินแดนอาณาจักรล้านช้างออกเป็น ๒ ส่วน คือ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เป็นของฝรั่งเศส ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอันคือภาคพื้นอีสานทั้งหมดยกให้เป็นของไทย กล่าวจำเพราะดินแดนอาณาจักรล้านช้างอันแบ่งมาอยุ่ภายใต้การปกครองของไทย ในนามไทยอีสาน หรือภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน จะเห็นว่าดินแดนนี้เป็นดินแดนที่กว้างใหญ่มาก ก่อนนั้นแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑลถึง ๓ มณฑล (พ.ศ.๒๔๗๕) คือมณฑลอีสานหรือมณฑลลาวกาว ๑ มณฑลอุดรหรือมณฑลลาวพวน ๑ มณฑลนครราชสีมา หรือมณฑลลาวกลาง ๑ โดยมณฑลลาวกาวตั้งอยู่ที่อุบลราชธานีมณฑลลาวพวน ๑ ตั้งอยู่ที่อุดรธานีและมณฑลลาวกลาง ๑ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา ปัจจุบันนี้มณฑลดังกล่าวในเบื้องต้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่เป็นเขตและจังหวัดซึ่งปัจจุบันนี้ภาคอีสานแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๙ จังหวัดไล่ตามลำดับตัวอักษรดังนี้ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือผลการสืบค้น ศึกษาประวัติความเป็นมา และเป็นมุมมองหรือบทสรุปของนักประวัติศาสตร์ที่มีต่อภาคอีสาน แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่มีความเห็นแย้งว่า ชาวไทยอีสานไม่ได้อพยพย้ายถิ่นมาจากที่ใดเลย หากแต่มีภูมิลำเนา ถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วโดยศึกษาจากซากปรักหักพังของโบราณวัตถุ สิ่งก่อสร้าง ซากวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเชียง จังหวัดอุดรที่น่าดูนอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามและที่อื่น ๆ อีกมากมายล้วนเสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ที่ยาวนานเกินกว่าคำบอกกล่าวของนักประวัติศาสตร์โบราณ และหากศึกษาถึงความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาของชาวอีสานอย่างกว้างและลึกแล้ว ยิ่งสอดรับกับความเห็นของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เพราะชาวอีสานมีหลายสิ่งอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นร่องรอยแห่งความเป็นอิสระเอกภาพอันยาวนานเหนือดินแดนแห่งนี้อย่างไรก็ตาม แม้ความเห็นของนักประวัติศาสตร์ต่อที่มาของภาคอีสานจะแย้งกันอยู่บ้าง นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เรื่องสำคัญที่น่ากล่าวถึงและต้องกล่าวถึงในที่นี่คือ ชาวไทยอีสานนั้นมีความเจริญรุ่งเรื่องมาแล้วแต่โบราณกาล หลายอย่างล้วนเป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเองอันแสดงถึงความเป็นมาอย่างน่าภาคภูมิ เช่น มีภาษาพูดและภาษาเขียน ตัวอักษร (อักษรไทยน้อยและอักษรธรรม) เป็นของตนเอง มีศิลปะด้านต่าง ๆ เป็นของตนเอง มีวรรณคดี ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีเป็นของตนเอง สิ่งที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดในความเป็นเอกของชาวอีสาน คือ “ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่" ซึ่งจะได้กล่าวถึงและให้รายละเอียดอย่างสมบูรณ์ต่อไป คำว่า “ฮีต” เป็นภาษาไทยอีสาน หมายถึงจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งฮีตนี้จะต้องปฏิบัติเหมือนกันตั้งแต่ประชาชนธรรมดาจนถึงเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์เมื่อถึงคราว วาระ และเดือนที่จะต้องประกอบพิธีกรรมตามฮีตแต่ละแห่ง แต่ละชุมชนจะต้องปฏิบัติเหมือนกัน ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ ฮีตด้วยกัน ส่วนคำว่า “คลอง” ซึ่งชาวอีสานจะออกเป็น “คอง” จะเป็นเหมือนบทบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็นบุคคลระดับใด คลองจะมีความเข้มงวดมากกว่า “ฮีต” เพราะคลองเปรียบเหมือนกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติและละเว้นก็จะถูกสังคมลงโทษตามฐานะแห่งความผิดนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงมีความเป็นอยู่ที่สงบร่มเย็นมาโดยตลอด เพราะต่างยึดมั่นในฮีตสิบสองคลองสิบสี่นั่นเอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าฮีตและคลองเปรียบเหมือนธรรมนูญชีวิตของชาวอีสานที่นำมาซึ่งความสุข สงบ ร่มเย็น ตราบเท่าจนปัจจุบัน (บางส่วน) แต่สังคมอีสานหลายแห่งที่วิ่งตามโลกวัตถุ หันหลังให้ฮีตเก่าคลองเดิม เห็นความดีงามของวัฒนธรรมต่างชาติ และรับมาอย่างง่ายดายโดยไม่พิจารณาจึงทำให้สังคมส่วนนั้นมีความวุ่นวาย ระส่ำระสายเป็นครอบครัวมีปัญหาแตกแยก ลูกไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ คนแก่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี พระ ครู ข้าราชการผู้นำระดับต่าง ๆ จ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบกันคดีต่าง ๆ มีให้เห็น ไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนหนึ่งเกิดจากคนห่างเหินฮีตเก่าคลองเดิม ไม่สนใจนำพาคำสอนของบรรพบุรุษ หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางสังคมอีสานที่กำลังล่มสลาย จึงอยากประกาศให้ผู้คนทราบว่าอดีตเขามีความสุขร่มเย็นกันอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น