บุญสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ของภาคอีสานกำหนดทำกันในเดือนห้า ปรกติมี 3 วัน โดยเริ่มแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายนเหมือนกับภาคกลาง วันที่ 13 เมษายน เป็นวันต้น คือ วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน คือวันกลางเป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายน คือวันสุดท้าย เป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ พิธีสงกรานต์ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ อาจมีพิธีทำแตกต่างกันไปในข้อปลีกย่อยแต่ที่ทำเหมือนกัน คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป ที่สำหรับสรงน้ำในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ อาจมีพิธีทำแตกต่างกันไปในข้อปลีกย่อยแต่ที่ทำเหมือนกัน คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป ที่สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปมักเป็นที่ใดที่หนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งตามปรกติมักใช้ศาลาการเปรียญ แต่บางวัดก็จัดสร้างหอสรงขึ้นแล้วอันเชิญพระพุทธรูปในประดิษฐานไว้ เพื่อทำการสรงในวันสงกรานต์ และในวันถัดจากวันสงกรานต์อีกด้วย
มูลเหตุที่มีการทำบุญสงกรานต์ มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีผู้หนึ่งอยู่กินกับภรรยามานานแต่ไม่มีบุตรเศรษฐีผู้นั้นบ้านอยู่ใกล้กับบ้านนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน ผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุราไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทตนผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่าถึงท่านมีสมบัติมากก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีได้ยินดังนั้น มีความละอายจึงทำการบวงสรวง ตั้งอธิษฐานขอบุตรต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ถึงสามปี แต่ไม่เป็นผลจึงไปขอบุตรต่อต้นไทร เทวดาซึ่งสิงสถิตย์อยู่ที่ต้นไทรสงสารได้ไปอ้อนวอนขอบุตรต่อพระอินทร์ให้เศรษฐี พระอินทร์จึงโปรดให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อประสูตแล้วเศรษฐีให้ชื่อว่า ธรรมบาล ตามนามของเทวบุตร และปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรนั้น ธรรมบาลเป็นเด็กฉลาด โตขึ้นอายุเพียง ๆ ขวบก็สามารถเรียนจบรู้ภาษานกและมีความเฉลียวฉลาดมาก ต่อมากบิลพรหมจากพรหมโลกได้ลงมาถามปัญหาสามข้อกับธรรมบาล ปัญหามีว่า คนเราในวันหนึ่ง ๆ เวลาเช้าศรีอยู่ที่ไหนเวลาเทียงศรีอยู่ที่ไหนและเวลาเย็นศรีอยู่ที่ไหนโดยสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลแก้ได้กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา แต่ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้จะต้องตัดศีรษะธรรมบาลเสีย โดยผัดให้เจ็ดวันคราวแรกธรรมบาลนึกตอบปัญหานี้ไม่ได้ พอถึงวันถ้วนหกพอดีไปแอบได้ยินนกอินรีผู้ผัวพูดคำตอบให้นกอินทรีผู้เป็นเมียฟังบนต้นตาล ธรรมบาลถึงสามารถแก้ปัญหาได้ คำตอบคือเวลาเช้าศรีอยู่ที่หน้าคนถึงเอาน้ำล้างในตอนเช้า เวลากลางวันศรีอยู่ที่อกคนถึงเอาเครื่องหอมประพรมที่หน้าอกในเวลากลางวันและเวลาเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าในเวลาเย็น เมื่อถึงวันถ้วนเจ็ดท้าวกบิลพรหมได้มาทวงถามปัญหาธรรบาล เมื่อธรรมบาลตอบได้ (ตามที่ยินนกพูดกัน) กบิลพรหมจึงตัดศีรษะของตนบูชาธรรมบาลตามสัญญาแต่เนื่องจากศีรษะของกบิลพรหมศักดิ์สิทธิ์ ถ้าตกลงแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งไปในอากาศจะทำให้เกิดฝนแล้งและถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ดังนั้นเมื่อกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตน ถึงได้ให้ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารองรับศีรษะของตนไว้ โดยตัดศีรษะส่งให้นางทุงษผู้ธิดาคนใหญ่ แล้วธิดาทั้งเจ็ดจึงแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จึงนำไปประดิษฐานไว้ที่มณฑปในถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ให้เป็นที่ประชุมเทวดาพอครบหนึ่งปีธีดาทั้งเจ็ดจะผลัดเปลี่ยนกันมาอัญเชิญเอาศีรษะของกบิลพรหมแห่พระทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ (ธิดาทั้งเจ็ดของกบิลพรหมมีชื่อดังนี้ คือ ทุงษ โคราด รากษส มัณฑา กิรินี กิมิทาและมโหทร) พิธีแห่เศียรของกบิลพรหมนี้ทำให้เกิดพิธีตรุษสงกรานต์ขึ้นทุก ๆ ปี และถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวไทยโบราณต่อๆ กันมาด้วย
นางสงกรานต์ ได้แก่ ผู้ทำหน้าที่อันเชิญเอาศีรษะของท้าวกบิลพรหมมาแห่ในวันสงกรานต์ เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ขึ้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำที่สุด มีด้วยกัน 7 คน เป็นพี่น้องกันทั้งหมด และเป็นธิดาของท้าวกบิพรหมหรือมหาสงกรานต์ดังกล่าวข้างต้น การที่ธิดาคนใดจะเป็นนางสงกรานต์ เช่น พ.ศ. 2527 วันที่ 13 เมษายนตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์จึงมีนามว่า กิมิทา เป็นต้น นางทั้ง 7 มีชื่อ วัน ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และสัตว์เป็นพาหนะ ดังนี้
1. ทุงษ วัน อาทิตย์ดอกไม้ ดอกทับทิมเครื่องประดับ ปัทมราดอาหาร อุทุมพรอาวุธ จักร - สังข์พาหนะ ครุฑ
2. โคราด วัน จันทร์ดอกไม้ ดอกปีบเครื่องประดับ มุกดาหารอาหาร น้ำมันอาวุธ พระขรรค์ - ไม้เท้าพาหนะ พยัคฆ์ (เสือโคร่ง)
3. รากษส วัน อังคารดอกไม้ ดอกบัวหลวงเครื่องประดับ โมราอาหาร โลหิตอาวุธ ตรีศูล - ธนูพาหนะ วราหะ (หมู)
4. มัณฑา วัน พุธดอกไม้ ดอกจำปาเครื่องประดับ ไพฑูรย์อาหาร นมเนยอาวุธ ไม้เท้า - เหล็กแหลมพาหนะ คัสพะ (ลา)
5. กิรินี วัน พฤหัสบดีดอกไม้ ดอกมณฑาเครื่องประดับ มรกตอาหาร ถั่วงาอาวุธ ขอ -ปืนพาหนะ กุญชร (ช้าง)
6. กิมิทา วัน ศุกร์ดอกไม้ ดอกจงกลณีเครื่องประดับ บุษราคัมอาหาร กล้วยน้ำอาวุธ พระขรรค์ - พิณพาหนะ มหิงสา (ควาย)
7. มโหทร วัน ศุกร์ดอกไม้ ดอกสามหาวเครื่องประดับ นิลรัตน์อาหาร เนื้อทรายอาวุธ จักร - ตรีศูลพาหนะ นกยูง
วิธีหาวันอธิบดี วันธงชัย วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ครั้งแรกหาวันอธิบดีก่อน จึงหาวันอื่น ๆ โดยมีวิธีต่อไปนี้
วันอธิบดี ให้ตั้งพุทธศักราชลง แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไร เศษนั้นเป็นวันอธิบดี เช่น เศษ 1 เป็นวันอาทิตย์ เศษ 2 เป็นวันจันทร์ เศษ 3 เป็นวันอังคาร เศษ 4 เป็นวันพุธ เศษ 5 เป็นวันพฤหัสบดี เศษ 6 เป็นวันศุกร์ ถ้าหารลงตัวไม่มีเศษ เป็นวันเสาร์ เช่น พ.ศ. 2527 เมื่อเอา 7 หาร ลงตัวพอดีไม่มีเศษวันอธิบดีก็เป็นวันเสาร์
วันธงชัย ให้ตั้งเลขวันอธิบดีของปีนั้น ๆ ลงเอา 3 คูณ 2 บวก แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไร เศษนั้นเป็นวันธงชัย เช่น พ.ศ. 2527 วันจันทร์เป็นวันธงชัย
วันอุบาทว์ ให้ตั้งเลขวันอธิบดีของปีนั้น ๆ ลงเอา 3 คูณ 1 บวก แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไรเศษนั้นเป็นอุบาทว์ เช่น พ.ศ. 2527 วันอาทิตย์เป็นวันอุบาทว์
วันโลกาวินาศ ให้ตั้งเลขวันอธิบดีของปีนั้น ๆ ลงเอา 2 บวก แล้วหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าไรเศษนั้นเป็นวันโลกาวินาศ เช่น พ.ศ. 2527 วันจันทร์เป็นวันโลกาวินาศ
การหาวันอธิบดี วันธงชัย วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ เป็นอคติถือว่า โดยคนไทยเรานั้นฝังหัวหรือเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่า ถ้าจะทำการมงคลใด ๆ ก็นิยมกระทำในวันอธิบดี และวันธงชัย เว้นวันอุบาทว์และโลกาวินาศ ถึงแม้พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า "ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของเขลา ผู้ถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้" แต่เราก็ยังอดถือฤกษ์ถือยามไม่ได้ พระท่านจึงสอนว่ายึดอะไรก็ยึดได้ แต่อย่ายึดให้มั่น ถืออะไรก็ถือได้ แต่อย่าถือให้มั่นเกินไป" เพราะการยึดมั่นถือมั่นเกินไปแล้วหนักวางยากปลงยาก อาจทำให้ไม่สบายใจ
จำนวนนาคให้น้ำ ถ้าต้องการทราบจำนวนขนาดให้น้ำในปีใด เมื่อคิดวันอธิบดีได้แล้ว ก็เอาวันอธิบดีตั้งคูณด้วย 5 บวกด้วย 3 และหารด้วย 7 เหลือเศษเท่าใด ก็เป็นจำนวนนาคให้น้ำเท่านั้นตัว เช่น พ.ศ. 2527 จำนวนนาคให้น้ำ 3 ตัว เป็นต้น
จำนวนฝนตก เกณฑ์น้ำฝนที่ว่าตกเท่านั้นเท่านี้ห่า คือ ตกในเขาจักรวาลเท่านั้นห่า ในป่าหิมพานต์เท่านั้นห่า ในสมุทรเท่านั้นห่า และในมนุษย์โลกเท่านั้นห่า มีกำหนดไว้ดังนี้ คือ ถ้าวันอธิบดีฝนเป็นวันอังคารฝนตกทั้งหมด 300 ห่า ถ้าเป็นวันอาทิตย์หรือวันเสาร์ตก 400 เท่า ถ้าเป็นวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี ตก 500 ห่าถ้าเป็นวันพุธหรือวันศุกร์ ตก 600 ห่า ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดถ้าอยากทราบว่าจำนวนน้ำฝนตกที่ใดเท่าใด ก็แบ่งจำนวนน้ำฝนที่ตกทั้งสิ้นออกเป็น 10 ส่วน จะเป็นตกในมนุษยโลก 1 ส่วน ตกในมหาสมุทร 2 ส่วน ตกในป่าหิมพานต์ 3 ส่วน และตกในเขาจักรวาล 4 ส่วน ตามลำดับเช่น จำนวนน้ำฝนรวมเป็น 400 เท่า ก็เป็นจำนวนตกในมนุษยโลก 40 ห่า ตกในสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า และตกในเขาจักรวาล 160 ห่า
เกณฑ์ธัญญาหาร มี 4 อย่าง เรียงตามลำดับเศษที่คำนวณได้ คือ
เศษ 1 ชื่อ ถาภะ ได้ 10 เสีย 1
เศษ 2 ชื่อ วิบัติ ได้ กึ่ง เสีย กึ่ง
เศษ 3 ชื่อ ปัจฉิม ได้ 1 เสีย 5
เศษ 4 ชื่อ ปัจฉิม ได้ 1 เสีย 5
เศษ 5 ชื่อ วิบัติ ได้ กึ่ง เสีย กึ่ง
เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ได้ 10 เสีย 1
เศษ 7 ชื่อ ปาปะ ได้ 1 เสีย 10
เกณฑ์ธาราธิคุณ มี 4 ราศี ซึ่งหมายถึงกองธาตุทั้งสี่ ถ้าตก
ราศีเตโช (ธาตุไฟ) น้ำน้อย
ราศีวาโย (ธาตุลม) น้ำน้อย
ราศีปถวี (ธาตุดิน) น้ำงามพอดี
ราศีอาโป (ธาตุน้ำ) น้ำมาก
เหตุใดในปฎิทินบัตรแต่ก่อน จึงไม่บอกวันเดือนปีทางสุริยคติเหมือนอย่างปฏิทินสมัยใหม่ แต่ว่าบอกวันทางจันทรคติเป็นข้างขึ้นข้างแรม และบอกเป็นชื่อตาม 12 นักษัตร คือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้น ก็เพราะการนับวันทางสุริยคติ ดูเหมือนจะมีใช้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 นี้เอง ก่อนนั้นขึ้นไปเขาใช้นับกันทางจันทรคติ ซึ่งราษฎรถึงจะไม่มีปฏิทินดู ก็ใช้ดูจากดวงจันทร์เป็นเดือนเกิดเดือนดับ หรือข้างขึ้นข้างแรมพอสังเกตดูได้เป็นประมาณนอกนี้ทางพุทธศาสนิกชนก็ยังถือวันทางจันทรคติอยู่ด้วย การนับวันทางจันทรคติจึงมีความจำเป็นแก่ประชาชนทั่วไปเพราะเกี่ยวกับการทำทำไร่ไถนาตามฤดูกาลและการทำบุญของเขา ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำบุญตรุษสงกรานต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
วิธีดำเนินการ ในวันที่ 13 เมษายน ในตอนเช้าหรือก่อนเที่ยง ทางวัดจะจัดเตรียมทำความสะอาดพระพุทธรูปและจัดพระพุทธรูปไว้ ณ ที่จะทำการสรง ซึ่งตามปรกติมักจัดไว้ที่แท่นหรือโต๊ะบนศาลาการเปรียญหรือหอสรงก็ได้ เมื่อเวลาบ่ายประมาณสองโมงทางวัดจะตีกลองเพื่อนัดชาวบ้าน พอชาวบ้านได้ยินเสียงกลองจะจัดน้ำอาบน้ำหอมและดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในวัด บางท้องถิ่นหนุ่ม ๆ สาว ๆ จะชวนกันไปหาดอกไม้ในป่า เพื่อนำมาบูชาพระพุทธรูป เมื่อพร้อมแล้วมีการกล่าวคำบูชาดอกไม้และอธิษฐานขอสรงน้ำแล้วจึงทำการสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำหอม โดยใช้ช่อดอกไม้จุ่มน้ำสลัดใส่องค์พระพุทธรูปเมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปเสร็จ ชาวบ้านจะนำน้ำที่ได้จากสรงพระพุทธรูปไปประพรมบนศีรษะของคนและสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ฯลฯ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกนี้บางวัดยังอัญเชิญพระพุทธรูป 4 องค์ไปไว้ที่หอสรง สำหรับสรงน้ำในวัดถัดไปจากวันตรุษสงกรานต์อีกด้วย ที่หอสรงบางแห่งใช้ไม้แก่นเจาะเป็นราง สลักลวดลายอย่างสวยงามหรือรางไม้ไผ่ที่ทำเป็นร่องยาวพาดออกมาข้างนอก ตรงบนพระพุทธรูปเจาะเป็นรูและต่อท่อเล็ก ๆ ให้น้ำไหลออกมา การสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรง ถ้ามีรางก็เทน้ำใส่ราง ที่ยื่นออกมาข้างนอก เพื่อให้น้ำไหลรดองค์พระพุทธรูปตรงรูดังกล่าวถ้าไม่มีรางก็ใช้ภาชนะเล็ก ๆ เช่น ขัน เป็นต้น ทำการรดในวันต่อ ๆ มาภายหลังวันตรุษสงกรานต์ เมื่อมีคนไปสงน้ำพระพุทธรูป เด็ก ๆ มักชอบไปอยู่ข้างหอสรง เพื่อจะได้อาบน้ำพระพุทธรูปเป็นที่สนุกสนานทั้งถือว่าทำให้หายโรคภัยไข้เจ็บและอยู่เย็นเป็นสุขด้วย การสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรงนี้ จะทำทุกวัน จนกว่าจะแห่ดอกไม้เสร็จ ซึ่งอย่างช้าไม่เกินวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จึงอัญเชิญพระพุทธรูปไป ประดิฐฐานไว้ตามเดิม ในวันตรุษสงกรานเมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปเสร็จแล้ว บางแห่งเวลากลางคืนประมาณ 1 ทุ่ม ชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัด ทำการคบงันด้วยดนตรี ร้องรำทำเพลงและการละเล่นต่าง ๆ แต่ส่วนมากพากันจับกลุ่มเล่นหันกันตามละแวกหมู่บ้านเป็นแห่ง ๆ โดยมากเป็นพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ การเล่นนอกจากเป่าแคนและร้องรำทำเพลงและมีการเล่นสาดน้ำและการละเล่นอื่น ๆ เช่น เล่นสะบ้า ถึงหนึ่งหรือชักเย่อ ฯลฯ โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำกันไม่ถืออายุ ชั้นวรรณะและเชื่อว่าหากเล่นสาดน้ำกันมากเท่าใด จะเป็นการช่วยดลบันดาลให้ฝนตกมากขึ้นเท่านั้น บางแห่งพวกผู้หญิงจับผู้ชายไปมัด แล้วเอาน้ำมารดจนหนาวสั่น จะหยุดรดและปล่อยตัว จนกว่าผู้ที่ถูกจับมัดยอมเสียค่าไถ่ซึ่งส่วนมากได้แก่ เครื่องดื่มและอาหาร เช่น ขนม เป็นต้น ให้แก่คณะผู้ทำการจับ
นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว ในวันตรุษสงกรานต์ยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพและขอพรจากพระสงฆ์ให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่บางหมู่บ้านสาว ๆ อาจสาดน้ำพระเณรในวัดด้วย ซึ่งประเพณีดั้งเดิมถือว่าเป็นการสนุกไม่ถือเป็นการบาปแต่อย่างใด หลังจากสรงน้ำพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ไปสรงน้ำให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่เคารพนับถือตามสมควร เช่น คนที่มีอายุมาก ๆ กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
ประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่ของชาวอีสาน มักจะเล่นกันเป็นเวลาหลาย ๆ วัน บางแห่งเล่นกันเป็นเวลา 5-7 วัน และถ้าอากาศร้อน บางทีมีการเล่นสาดน้ำก่อนวันงาน และภายหลังวันงานรวมเป็นเวลาถึง 10 วันก็มี แต่ตามปรกติจะมีการเล่นสนุกสนานกัน 3 วัน คือวันที่ 13-14-15 เมษายน โดยเฉพาะวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันเนา (บางแห่งเรียกวันเนา แผลงเป็นวันเน่าก็มี) แปลว่า วันหยุด ชาวบ้านจะหยุดงานทุกอย่างและจะเล่นสนุกสนานกันอย่างเต็มที่และในวันเนาจวนรุ่งสว่างราว 4 หรือ 5 นาฬิกา จะมีการยิงปืนและจุดประทัดขับไล่ภูตผีและเสนียดจัญไรต่าง ๆ ด้วย
ส่วนการละเล่นจะมีติดต่อกันไปตลอดวันตลอดคืน จนถึงคืนวันที่ 15 เมษายนและตอนเย็นวันที่ 15 เมษายน บางแห่งชาวบ้านทำธง (ชาวบ้านเรียกว่า ธุง) ด้วยด้ายสีต่าง ๆ ยาวประมาณ 2-3 วา นำไปแขวนที่วัด โดยใช้ลำไม้ไผ่ที่ยอดโก่งเรียวงามเป็นเสาธง การนำธงไปแขวนจะการแห่และตีฆ้องตีกลองด้วย การแขวนธงนี้บางท่านให้ความเห็นว่า นอกจากเป็นการบูชาพระรัตนตรัยแล้วยังเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะแห่งชีวิตของคนเรา คือสามารถมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปีใหม่อีกครั้งหนึ่งและในคืนวันที่ 15 เมษายนพอจวนสว่าง คือรุ่งขึ้นวันที่ 16 เมษายน บางแห่งมีการแห่ข้าวพันก้อนไปบูชาที่วัดเรื่องบุญแห่ข้าวพันก้อนจะได้กล่าวละเอียดที่หลัง
ในวันที่ 15 เมษายน บางแห่งมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ในตอนเช้า และตอนบ่ายบางแห่งชาวบ้านพากันขนทรายมาก่อเจดีย์ทราย อาจจัดทำที่หาดทรายใกล้แม่น้ำหรือที่ใดที่หนึ่งแล้วแต่จะเห็นว่าเหมาะสม แต่ส่วนมากนิยมจัดทำที่วัด โดยชาวบ้านพากันขนทรายจากท่าน้ำมาก่อเป็นเจดีย์ทรายที่วัดรวมกันเป็นกองใหญ่ การก่อเจดีย์จัดทำโดยเอาทรายผสมน้ำพอซุ่มแล้วนำมารวมก่อเป็นกองใหญ่ ทำเป็นรูปเรียวสูงคล้ายปิรมิด ตกแต่งให้สวยงามดีแล้ว ตรงยอดเจดีย์เอาไม้แก่นแข็งทำเป็นหยักและเสี้ยมปลายแหลมพร้อมทาสีให้สวยงาม มาเสียบไว้พร้อมดอกไม้และเทียน นอกจากนี้บางทียังเอาขันขนาดเล็กใส่ทรายซึ่งผสมน้ำพอหมาดให้เต็มดีแล้วตีคว่ำลงกับพื้นดินรอบเจดีย์ทรายองค์ใหญ่ คนหนึ่งทำจำนวนให้เกินอายุของตนไว้ 1 ขัน ซึ่งมีความหมายขอให้อายุยืนยาวต่อไป เช่น เกี่ยวกับทำกองทรายด้วยนั่นเอง การก่อเจดีย์ทรายหากไม่ทำในวันดังกล่าวอาจทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ซึ่งเป็นวันอัญเชิญพระพุทธรูปที่นำมาสรงน้ำที่หอสรงไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม การก่อเจดีย์ทรายเมื่อทำเสร็จพิธีก็มีการทำพิธีบวช โดยนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาทำพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำพิธีบวชองค์พระเจดีย์ทราย มีการประน้ำพระพุทธมนต์ที่เจดีย์ทรายด้วย พิธีนี้นิยมทำในตอนบ่าย พอถึงตอนเย็นหรือค่ำมีการฟังพระสวดมนต์ ฟังเทศน์ฉลองพระทรายและทำการคบงัน การก่อเจดีย์ทรายนอกจากได้บุญตามความเชื่อถือแล้ว หากจัดทำในวัด โอกาสต่อมาเมื่อเจดีย์ทรายทลายลง พื้นที่แห่งนั้นจะได้รับการถมให้สูงขึ้นไปในตัวพื้นดินจะหายจากโคลนตมและมองดูสะอาดตาดีด้วย นับเป็นการได้กุศลสองต่อ
ภายหลังวันสงกรานต์แล้ว บางแห่งมีการแห่ดอกไม้ โดยทำเป็นต้นดอกไม้ไปถวายวัด รายละเอียดเรื่องราวการแห่ดอกไม้จะได้กล่าวในโอกาสต่อไป นอกจากพิธีดังกล่าวแล้วบางท้องถิ่นภายหลังงานตรุษสงกรานต์แล้ว จะมีพิธีสู่ขวัญพระพุทธรูปและสู่ขวัญพระภิกษุสามเณรด้วย
คำสู่ขวัญพระพุทธรูปและคำสู่ขวัญพระภิกษุสามเณร มีดังต่อไปนี้
ศรี ศรี ปีเดือนแถมเถิงเขต พระสุริยเยศเข้าสู่ราตรี ผีจักปุนเป็นปีอธิกมาส ฝูงข้าน้อยนาถข้าบาททั้งหลายยกมือใส่หัวเกศเกล้า ไหว้พระรัตนตรัยแล้วเจ้าตนรัศมี เถิงฤดูปีมาไต่เต้า องค์พระแก้วเจ้าจึงเสด็จลีลาลง ทรงตนงามพีพ่าย ๆ ฝูงข้าทั้งหลายบ่มีใจติกหนาด้วยโทษ กริ้วโกรธโกรธาพร้อมกันมาราชาบายศรีแด่พระแก้วเจ้า ทั้งผู้เฒ่าและปานกลาง ทั้งสาวฮามและเด็กน้อย มีใจชื่นช้อยเลื่อมใสดี ฝูงข้าทั้งหลายได้ขัดสีสังเกต ตามประเทศพื้นเมืองคน ฝูงข้าทั้งหลายได้กระทำเพียรสร้างกุศลหลายชาติ จึงได้อุปฐากพระแก้วเจ้าองค์ทรงธรรมผายโผดเมตตาโปรดสัตว์โลกให้พ้นโอฆสงสาร ให้ได้เถิงพระนีรพานอันล้ำยิ่ง ฝูงข้าทั้งหลายถึงพร้อมกันมาตกแต่งแล้วจึงยอถวายแดพระแก้วเจ้า องค์เป็นเค้าเป็นเหง้า แก่ฝูงคนและเทวดาทั้งหลายและทรงฮูปโฉมงามย้อยยั่ง เป็นดั่งน้ำครั่งใส่ไตคำ องค์มีรัศมีงามบ่ฮู้เศร้า ตราบต่อเท่าห้าพันพระวัสสา
อันหนึ่ง ฝูงข้าทั้งหลายก็ยังมีคำมักคำปรารถนาต่าง ๆ กัน บางพ่อปรารถนาเอาซึ่งสมบัติมากสมบัติหลากโลกีย์ เป็นเศรษฐีรตนาถพร้อมเนืองนอง เงินคำกองม้ามิ่ง นับด้วยสิ่งอสงไขย บางพ่องปรารถนาเป็นพญาจักรพรรดิราชา ให้ได้ผาบแพ้ทั้งสีชมพู บางพ่องปรารถนาเป็นพญาอินทราธิราช อันเป็นอาชญ์แก่เทวดาทั้งหลายบางพ่องปรารถนาเป็นพระพรหมตนประเสริฐ อันเป็นบังเกิดยังญาณ บางพ่อปรารถนาเป็นทายกทายิกาอุบาสกอุบาสิกาของพระศรีอารย์ตนองอาจ เป็นดั่งนางนาถไท้วิสาขา บางพ่องปรารถนาเป็นสัพพัญญตญาณอันล้ำเลิศประเสริญกว่าคน และเทวดาทั้งหลาย บางพ่องปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธอันล้ำยิ่ง ข้ามพ้นสิ่งสงสาร บางพ่องปรารถนาเป็นสาวกบารมีผายผ่อง บางพ่องปรารถนาเป็นพระอรหันต์มรรคญาณอันผ่านแผ้ว หมดบาปแล้วสู่นีรพานขอให้ได้ดังคำมักคำปรารถนา แห่งฝูงข้าทั้งหลายทุกตนทุกคน ก็ข้าเทอญ
ประการหนึ่ง ตราบใดฝูงข้าทั้งหลาย นังได้ทั่วระวัฏฏ์ผัดไปมา ในวัฏสงสารแหล่งหล้าขอให้พ้นจากอบายเว้นแวนไกลฮ้อยโยชน์ คำฮ้ายโหดอย่ามี จำเร้ญศรีสุทธะยิ่ง คือเทพไท้สิ่งอินทรา ขอให้มีอายุยืนนานอย่าน้อยให้ได้ฮ้อยเอ็ดวัสสาอย่าพั่ง อย่าได้หลั่งเข้าสู่โมหา ขอให้ฝุงเข้าเกิดมาพร้อมพระเจ้าตนประเสริฐ ซึ่งว่าพระศรีอริยเมตไตรย แม่นว่ามีอันใดขอให้ประกอบชอบเนื้อเพิงใจ สมศรีไวเมียมิ่ง ลูกแก้วกิ่งกับตนวงศาลสายเชื้อชาติ ขอให้ฉลาดฮู้ใจเดียวแม่นว่าฝูงข้าทั้งหลายยังได้ทัวระเทียวไปมา ในวัฏสงสารหลายชนิด อย่าได้พอพ้อปิตุฆาตฮ้ายหมู่เวราแม่นว่าฝูงข้าทั้งหลายจีกมารณาม้างปัญจขันธ์ทั้งหลาย ขออย่าได้มีน้ำมูกน้ำลายเสลด ทุกข์เหตุฮ้ายเวทนาจงให้มรณาโดยชอบ ประกอบด้วยสติจวิตวา ฝูงข้าทั้งหลายตายจากเมืองคน จอให้ไดเมื่อเอาตนเกิดในชั้นฟ้า เลิศตาวะติงสา ยถา ภาเว ภาเว ชาโต ฝูงข้าทั้งหลาย เกิดมาในภาวะที่ใดก็ดี มีหูตาขอให้ใสแจ้งโสต เป็นเงาในฮ้อยโยชน์ก็ให้เห็นเป็นวิตถารแจ้งโสต ธรรมชาติโสภา ผมดำยาวเส้นแลบ พรรณะแจ้งแจบเสมอเทา เลาคิงขาสมเต้า อย่าถ่อยเฒ่าชราการเนื้อคิงบางคอกลมปล้อง บ่เอ้อ้องก็หากดูงาม คนใดเห็นลืมแลงงายหายอยากข้าว ผู้เฒ่าเห็นหายซึ่งพยาธิโรคาท้าวพญาเห็นชมชื่น น ๆ ทั่วชมพู กูณาผายแผ่กว้าง ให้มีช้างม้าฝูงหมู่เงินคำ ให้จำนาทุกชาติ อย่าได้คลาดดังคำมักคาปรารถนา แห่งฝูงข้าทั้งหลาย ทุกตนทุกคน ก็ข้าเทอญ(คำสู่ขวัญพระพุทธรูปใช้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ คือ ภายหลังวันตรุษสงกรานต์ หรือใช้ในพิธีสมโภชพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ก็ได้)
คำสู่ขวัญพระภิกษุสามเณร
ศรี ศรี สิทธิพระพร บวรอติเรก อเนกเตโช มโหราฤกษ์ อธิกะอัทธา อตุลาคุณ พหุลเตโช ชัยะมังคลาดิเรก เอนกศรีสวัสดี ไมตรีจวมีแก่นาค ครุฑ มนุษย์ กุมภัณฑ์ คนธรรมพ์ ยักษ์ อารักขเทวดา สุรา สุรินทร์ อินทร์ พรหมยมราชา สุนักขัตตา สุมังคลา อุตตอมโชค อุตตมดถี อุตตมนีธี อุตตมังคลา มหาศรีวิลาส อินทพาดพร้อมไตรยางค์ พร้อมนาวางคคาดคู่ พร้อมกันอยู่สอนลอน อาทิตย์จรจันทร์นักขัตฤกษ์ อังคารถือมหาชัย พุทธพฤหัสไปเป็นโชคศุกร์ เสาร์โยคว่าวันดี วันดีถีอมุตตโชค วันประสิทธิโยคพร้อมลักขณา ฝูงข้าทั้งหลาย ทั้งหยิงชายน้อยใหญ่อุบาสิกอุบาสิกาทั้งหลาย พร้อมกันมาทุกแห่ง มาตกแต่งขันกราบไหว้และบายศรี สรงโสรจด้วยน้ำ พุทธาภิเษกก็หากแล้ว บัดนี้ฝูงข้าทั้งหลาย หากเพิงประสงค์สิทธิจินตนาแล้ว จึงอธิษฐานให้เป็นพระพร 4 โกฏฐาสปฐมโกฏฐาส อันถ้วนหนึ่งนั้น ขอถวายสมมาบูชาเจ้ากู ตนทรงลีลาอันวิเศษ ในช่วงเขตอาฮาม แถมสมภารทุกสิ่ง ไว้เป็นมิ่งมงคล ให้มีบุญและยศกว้าง อยู่สืบสร้างสมณะธรรมเจ้าตราบต่อเท่าฮ้อยซาวพระวัสสา ก็ข้าเทอญ
ทุติยะ พระพรถ้วนสองสมภารนองเนืองมาก บุญล้นหลากเหลือหลาย ผันผายแผ่กว้าง เป็นที่อ้างแก่โลกโลกาลือชาไปทุกแห่งตกแต่งพร้อมนานา ทั้งพญาแสนหมื่นมาก กราบพื้นบาทา สักการะบูชาเจ้ากู ทุกวันทุกยามก็ข้าเทอญตติยะ พระพรถ้วนสาม ดูงามใสและเฮืองฮุ่ง ปานดั่งแสงสุริยะพุ่งขึ้นมา เขายุคันธรให้ได้แถมนามกรขึ้นเป็นมหาสมเด็จอัคคะบวรราชครู ดูงามศรีใสสะอาด ให้ได้นั่งปราสาทแก้วและเบ็งซอนอาภรณ์หลายแก้วกิ่ง ทุกสิ่งพร้อมเงินทอง หาสาหลายต่างเมืองมาไหว้ มีดอกไม้แก้วและเงินคำ นำมาถวายพร่ำพร้อมมานบน้อมวันทาโรคาอย่ามาต้องให้เจ้ากูได้สอนลูกน้องพอแสนคน ทศพลตนผ่านแผ้ว คือว่าไตรปิฏกแล้วทั้งสาม ก็ข้าเทอญ
จตุตถะ พระพรถ้วนสี่ ให้รู้ที่แจ้งตรัสส่องสรญาณ สมภารเฮืองทั่วโลก ดูเลิศล้ำกว่าเทพาให้ได้ดั่งพระโมคคัลลาสารีบุตร บริสุทธิ์องค์ประเสริฐ เลิศด้วยฤทธิ์บารมีเช้าค่ำ ยิ่งล้ำดตื่มศรัทธาจตุรานาคครุฑ มนุษย์กุมภัณฑ์ คนธรรมพ์ยักษ์ทั้งหลาย อันยายยั้งอยู่ คู่ป่าไม้ไพรพนอม จอมเขาและฮิมน้ำสมุทรสุดแดนแสนโกฏิฮอบขอบจักรวาล ให้ทะยานมาด้วยฤทธา มีเครื่องสักการะบูชาพร่ำพร้อม มานบน้อมประณมกรถวายพร ถวายพรไปอย่าคลาดแคล้ว ให้เลิศแล้วนัยคาถาว่า ชยะคุ ภะวัง ชยะมังคละ ดั่งนี้ ขอให้เจ้ากูมีชัยชนะ พญามารผู้ใจบาป มากราบพิ้นบาทา สักการะบูชาเจ้ากู อยู่สู้วันทุกยาม ก็ข้าเทอญ
วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น