วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

3.เดือนสาม บุญข้าวจี่

บุญข้าวจี่นิยมทำในราวกลางหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ข้าวจี่ คือข้าวเหนี่ยวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่หรือผลมะตูมขนาดกลาง ทาเกลือเคล้าให้ทั่วและนวดให้เหนียว แล้วเสียบไม้ย่างไฟ ถ้าไม่เสียบไม้จะย่างบนเหล็กหรือบนไม้ไผ่ผ่าซีกสานขัดกันเป็นตะแกรงห่าง ๆ ก็ได้ โดยย่างบนกองไฟที่เป็นถ่านพลิกไปพลิกมามาจนเกรียมโดยรอบ จึงเอาออกมาทาด้วยไข่ ซึ่งตีให้ไข่ขาวไข่แดง เข้ากันตีแล้วทาจนทั่วปั้นข้าว จึงเอาย่างไฟให้สุกอีกครั้งหนึ่ง บางแห่งเมื่อเอาข้าวย่างไฟเสร็จแล้ว ถอดเอาไม้ออก เอาน้ำอ้อยปึกใส่เป็นไส้ข้างในด้วย น้ำอ้อยอาจเอายัดใส่ข้างในก่อนย่างไฟก็ได้ แต่บางแห่งไม่นิยมใส่น้ำอ้อย
มูลเหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสาม คงจะเนื่องจากเป็นเวลาที่ชาวนาหมดภาระในการทำนา ชาวนาได้ข้าวขึ้นยุ้งใหม่ จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ ส่วนมูลเหตุดั้งเดิมที่จะมีการทำบุญข้าวจี่มีเรื่องเล่าว่าในกาลครั้งหนึ่ง นางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ ครั้นถวายแล้วนางคิดว่าพระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทานเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะนิตของนางปุณณทาสี จึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูสาดอาสนะ แล้วทรงประทับนั่งฉัน ณ ที่นางถวายนั้นเป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานิสงส์ที่ถวายขนมแป้งจี่ ชาวอีสานทราบอานิสงส์ของการทานดังกล่าว จึงพากันทำข้าวจี่ถวายทานแต่พระสงฆ์สืบต่อมา
วิธีดำเนินการ
เมื่อทางวัดและทางบ้านกำหนดวันทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะไปเตรียมหาไม้สำหรับเสียบข้าวจี่ ซึ่งอาจเป็นไม้ไผ่ผ่าซีกหรือลำไม้เล็ก ๆ ชนิดอื่นที่ไม่เบื่อเมา โดยปลอกเปลือกไม้ออก เหลาตกแต่งให้เกลี้ยงเกลาดี ๆ และเตรียมฟืนไว้ให้พร้อม เมื่อถึงวันทำบุญ เอาไม้เสียบและฟืนที่เตรียมไว้สำหรับทำบุญข้าวจี่ไปรวมกันที่วัด จึงเอาฟืนมาก่อเป็นกองไฟ กองไฟนี้อาจทำลายกองตามความจำเป็น เมื่อก่อไฟจนเป็นถ่านดีแล้วชาวบ้านแต่ละคนเอาข้าวเหนียวทำเป็นปั้น โรยเกลือและเคล้านวดให้เข้ากัน จนข้าวมีลักษณะเหนียวเหนอะหนะดังกล่าวแล้วข้างต้น กะจำนวนให้ครบพระภิกษุสามเณรในวัด เสียบไม้ปิ้งไฟหรือย่างบนกองไฟจวนสุกทาไข่ให้ทั่วแล้วปิ้งต่อไปจนไข่เหลือง บางแห่งเมื่อปิ้งเสร็จ เอาน้ำอ้อยปึกยัดไส้ด้วย (น้ำอ้อยอาจเอาใส่ยัดไส้ก่อนปิ้งก็ได้) หรือจะไม่ใส่น้ำอ้อยก็ได้ จึงจัดอาหารหวานคาวและข้าวจี่มารวมกันที่ศาลาวัด นิมนต์พระภิกษุและสามเณรในวัน ทั้งหมดมารับถวายทาน ข้าวจี่หากไม่มารวมกันทำที่วัด ชาวบ้านอาจต่างคนต่างทำมาจากบ้านของตน โดยเสร็จแล้วต่างนำข้าวจี่มาที่วัดก็ได้ พิธีถวายมีการกล่าวคำบูชาดอกไม้ กราบไหว้พระรัตนตรัย รับศีล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ตักบาตรถวายข้าวจี่ แล้วยกไปถวายพระภิกษุสามเณรพร้อมอาหารหวานคาว ก่อนยกไปถวายมีการกล่าวคำถวายข้าวจี่ด้วย ซึ่งคำกล่าวถวายข้าวจี่มีดังต่อไปนี้
คำถวายข้าวจี่
อิมัสมิง ฐาเน อิมานิ มะยัง ภันเต พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโข อิมานิ พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ปฏิคคัณหาตุ ฑีมะรัตตัง อัตถายะ หิตายะ สุขายะ
คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายก้อนข้าวจี่ทั้งหลาเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ก้อนข้าวจี่ทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
เมื่อพระฉันเสร็จ มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี ภายหลังเสร็จพิธีแล้วชาวย้านจะมีเลี้ยงกันเองด้วยข้าวจี่และอาหารหวานคาว (ซึ่งเหลือจากพระฉัน) เป็นทั้งงานบุญและได้อิ่มหนำสำราญโดยทั่วไป ในสมัยปัจจุบันบุญข้าวยี่ยังมีการทำกันเป็นส่วนน้อยและเป็นที่น่าเสียดายที่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ส่วนมากเลิกการทำบุญข้าวจี่กันแล้วนอกจากการทำบุญข้าวจี่แล้ว ในเดือนสามเพ็ญยังมีการทำบุญวันมาฆบูชาอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น