วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

10.เดือนสิบ บุญข้าวสาก

บุญข้าวสากหรือข้าวสลาก ( สลากภัต ) นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต บางท่านว่าเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้เปรตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเวลาห่างจากเวลาบุญข้าวประดับดิน 15 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เปรตต้องการกลับไป ณ ที่อยู่ของตน ก่อนการทำบุญข้าวสากชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่นๆ ตลอดผลไม้ต่างๆ ไว้ทำบุญอย่างคึกคักในวันงาน สำหรับข้าวเม่า ข้าวพองและข้าวตอกนั้น จะคลุกเข้ากันและใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก
( ภาคกลางเรียกว่าข้าวกระยาสารท ) แต่บางแห่งข้าวเม่า ข้าวพองและข้างตอกมิได้คลุกเข้าด้วยกันคงแยกไปทำบุญเป็นอย่างๆ ไปตามเดิม เมื่อเตรียมของทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องและผู้รักใคร่นับถืออาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ แล้วแต่สะดวก สิ่งของเหล่าสี้มักแลกเปลี่ยนกันมาระหว่างญาติพี่น้องและชาวบ้านที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ถือว่าเป็นได้บุญและเป็นการผูกมิตรไมตรีกันไปในตัวด้วย มูลเหตูที่มีการทำบุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า มีบุตรชายกฎุมพีผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุและตระกูลเสมอกันมมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและเมียน้อยเสีย ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดีปีไหนฝนจะตกดีปีไหนฝนจะตกไม่ดีจะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอิสานจึงถือเอาการถวายสลากภัตหรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมาและเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุและวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า " ตาแฮก "
วิธีดำเนินการ พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ตอนเช้าชาวบ้านจะพากันนำอาหารคาวหวานต่างๆ ไปทำบุญตักบาตรที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน และถวายทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นก็กลับบ้าน แต่บางคนอาจอยู่วัดจำศีล ภาวนาและฟังเทศน์ก็มีต่อมาพอสายพอจวนเพล ชาวบ้านจะนำเอาข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ ไปวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยเอาอาหารต่างๆ จัดเป็นสำรับหรือชุดสำหรับถวายทานหรือถวายเป็นสลากภัต การถวายอาหารตอนนี้จัดใส่ภาชนะต่างๆแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งจัดใส่ถ้วย ชามถวาย บางแห่งใช้ทำเป็นห่อ ทำเป็นกระทงด้วยใบตองกล้วยหรือกระดาษ บางแห่งใส่ชะลอม ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่และกรุด้วยใบตองกล้วยหรือกระดาษ บ้านหนึ่งๆจะจัดทำสักกี่ชุดแล้วแต่ศรัทธา ประเพณีบุญข้าวสารที่นิยมทำกันอีกอย่างหนึ่ง คือ สลากภัต อาจทำได้หลายวิธี คือวิธีหนึ่ง ก่อนจะนำของถวายพระชาวบ้านจะจับสลากชื่อพระภิกษุสามเณรก่อน สลากที่จับถูกชื่อพระภิกษุสามเณรรูปใด ก็นำของไปถวายแต่พระภิกษุสามเณรรูปนั้น วิธีหนึ่ง ผู้ถวายจะเขียน ชื่อของตนใส่ลงในบาตร พระภิกษุสามเณรรูปใด ได้สลากของผู้ใด ผู้นั้นก็นำของไปถวายข้าวสากกี่ชุด จะเขียนชื่อเจ้าของข้าวสากพร้อมจำนวนชะลอมหรือท่อหรือทา และคำอุทิศส่วนกุศล ใส่กระดาษไปด้วย เมื่อชาวบ้านไปพร้อมกันที่วัดแล้ว จะนำเอาสลากนั้นไปใส่ลงในขันหรือบาตรรวมกันคลุกให้เข้ดีแล้ว จะมีการจับสลากขึ้นมาทีละใบ เมื่อจับสลากถูกใบใด ก็จะมีการอ่านชื่อผู้เจ้าของสลากพร้อมคำอุทิศส่วนกุศล พออ่านจบเจ้าของข้าวสากจะนำห่อ ชะลอมหรือสำหรับอาหารต่าง ๆ ไปถวายพระภิกษุสงฆ์การจับสลากใบแรก ประชาชนบางตำบลหมู่บ้านให้ความสนใจและตื่นเต้นเป็นพิเศษ ว่าปีนั้นจะจับสลากถูกใครก่อนคนอื่น เพราะเชื่อถือกันว่า ถ้าปีได้จับสลากคนแรกเป็นคนฐานะยากจน มักจะทำนายว่า ปี่นั้นมักจะหากินไม่คอยได้ผลดี เช่น ข้าวกล้าในนา จะไม่งอกงาม เป็นต้น แต่ถ้าปีใดจับสลากถูกคนที่มีฐานะดี ก็มักจะทำนายว่า ประชาชนในละแวกนั้นจะอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ไม่อดอยาก นอกนี้บางแห่งชาวบ้านยังนิยมเอาห่อหรือชะลอมข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้เปรตหรือญาติผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่าง ๆ ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่อุทิศให้ด้วย เมื่อถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณรและนำอาหารไปวางไว้บริเวณวัดเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตและญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย เป็นอันเสร็จพิธี นอกจากนี้ผู้ที่มีนาจะนำข้าวสารไปเลี้ยง "ตาแฮก" ที่นาขอบตน ดังกล่าวแล้วข้างต้น
คำถวายสลากภัต

อิมานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภักขุสังโฆ อิมานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัง ญาตะกานัณจะกาละ กะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายกับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงให้โอกาสรับซึ่งสลากภัต กับทั้งบริขารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย และญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น ซึ่งล่วงลับไปแล้วตลอดกาลนานาเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น