วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

การเขียนแผนการสอน

http://lovemam.multiply.com/journal/item/75/75
ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญครูผู้สอนควรคำนึงถึงหลักสูตร โดยมีการวิเคราะห์หลักสูตรให้ถ่องแท้ถึงจุดหมาย หลักการและเจตนารมณ์ของหลักสูตร โดยผ่านการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ คำอธิบายรายวิชาเพื่อจัดทำหน่วยการเรียนรู้และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ชัดเจนในแต่ละครั้งที่จัดการเรียนรู้ นอกจากนี้ จะต้องคำนึงถึงผู้เรียน การพัฒนาประสบการณ์ของผู้เรียน บทบาทของผู้เรียน วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน บรรยากาศในการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ การประเมินผลที่สอดคล้องและครอบคลุมมาตรฐานการเรียนรู้ อีกประการหนึ่งควรคำนึงถึง นโยบาย จุดเน้นของโรงเรียนที่สอดคล้องกับหน่วยงานที่กำหนดในระดับที่เหนือโรงเรียนขึ้นไปด้วยองค์ประกอบสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้แผนการจัดการเรียนรู้ เป็นผลของการเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมของการแปลงหลักสูตรสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน แผนการจัดการเรียนรู้จึงเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน จะต้องให้ความสำคัญ มีความรู้ความเข้าใจเพื่อให้สามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่มองเห็นภาพรวมและขั้นตอนของการดำเนินการที่ชัดเจน เพราะเป็นร่องรอย หลักฐาน แสดงความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของครูผู้สอน แผนการจัดการเรียนรู้จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร อาจมีการจัดทำได้หลากหลายรูปแบบ รายละเอียดขึ้นอยู่กับสถานศึกษาหรือความเข้าใจและความต้องการของครูแต่ละคน องค์ประกอบสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ อาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาในส่วนที่สำคัญ ๆ ทุกสำนักก็มีส่วนคล้ายกันมาก ซึ่งจะนำมากล่าวพอเป็นแนวทางในการพิจารณาตัดสินใจ ดังนี้
ทิศนา แขมมณี (ทิศนา แขมมณี และคณะ. 2548 : 16) ได้นำเสนอองค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วยหัวข้อดังนี้ คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์ การวัดและประเมินผล บันทึกหลักสอน ซึ่งได้ระบุไว้ 3 ประการ ได้แก่ ผลการเรียน ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไข
กาญจนา วัฒานุ (กาญจนา วัฒายุ. 2547 : 86 – 88) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ควรประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ มาตรฐานการเรียนรู้ / ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาสาระ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้ กระบวนการวัดและประเมินผล กิจกรรมเสนอแนะและบันทึกหลังสอนสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2546 : 21) ได้กล่าวถึง แผนการจัดการเรียนรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียน ควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล และการบันทึกผลหลังสอนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู. 2545 : 33) ได้ให้ความหมายของคุณภาพแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างน้อยควรประกอบด้วยจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหา สาระการเรียนรู้ กิจกรรม สื่อและแหล่งเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล และสรุปผลการสอนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2548 : 27 – 27) ได้เสนอตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ก็พบว่ามีผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง จุดประสงค์การเรียนรู้ แนวความคิดหลัก กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล สื่อและแหล่งการเรียนรู้กรมวิชาการ (กรมวิชาการ. 2545 : 121 – 123) ได้นำเสนอตัวอย่างแผนจัดการเรียนรู้ รายวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่อง แร่และหิน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้พบว่าประกอบด้วย หัวข้อสำคัญ คือ จุดประสงค์การเรียนรู้ แนวความคิดหลัก กระบวนการจัดการเรียนรู้ กระบวนการวัดและประเมินผล และแหล่งการเรียนรู้จะเห็นได้ว่า การนำเสนอองค์ประกอบสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ของแต่ละสำนักที่นำเสนอ มีส่วนที่คล้ายกันและอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ในจุดเน้นบ้างแต่ก็ยังคงความสำคัญในหัวข้อหรือประเด็นที่สำคัญเหมือนกัน แต่ในบางหัวข้อมีความหมายเหมือนกันแต่เขียนไม่เหมือนกัน เช่น สาระสำคัญ และแนวความคิดหลักเป็นต้น ในบางตัวอย่างที่นำเสนอไม่ได้นำเสนอผลการสอน จึงไม่ปรากฏหัวข้อผลหลังสอนให้เห็นแต่ก็ยังมีความสำคัญอยู่ ดังนั้นในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้อาจจัดทำได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเข้าใจของครูผู้สอนแต่ละคน และสามารถเพิ่มเติมหัวข้ออื่นลงไปได้อีกตามความเหมาะสม แต่ก็ไม่ควรจะตัดทอนหัวข้อที่สำคัญลงไป เช่น กิจกรรมการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื่องจากการตัดทอนหัวข้อดังกล่าวแล้วแผนการจัดกาเรียนรู้นั้นจะไม่สมบูรณ์ในสาระสำคัญทันทีไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้
จึงขอสรุปองค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ควรมี ดังนี้
1 มาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ในการระบุมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค ในหัวข้อนี้มีเจตนาเพื่อให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้นี้ได้ดำเนินการตรงกับมาตรฐานที่เท่าไร และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในข้อใด ตรงตามหลักสูตรของสถานศึกษาที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เนื่องจากประสบการณ์ในการนิเทศของผู้เขียน พบว่า ครูผู้สอนจำนวนหนึ่งดำเนินการสอนไม่ตรงกับมาตรฐานและผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากไม่ได้วิเคราะห์หลักสูตรก่อนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้หรือครูผู้สอนบางคนได้นำแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้อื่นมาใช้สอนโดยไม่วิเคราะห์หรือตรวจสอบหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองว่าตรงกันหรือไม่ ทำให้สอนไม่ตรงหลักสูตรเช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้าครูผู้สอนได้มีการวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำหน่วยการเรียนรู้ที่ชัดเจน ซึ่งครอบคลุมมาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังโดยกำหนดเวลา เนื้อหาสาระไว้แล้วและแบ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อดำเนินการและสามารถตรวจสอบได้ ในหัวข้อนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนอีกก็สามารถทำได้
2 การเขียนสาระสำคัญหรือแนวคิดหลักสาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก หมายถึง ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเนื้อหา หลักการ วิธีการที่ต้องการจะให้ผู้เรียนได้รับหลังจากเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้วทั้งในด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และเจตคติ วัฒนาพร ระงับทุกข์ (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2543 : 88) ได้ระบุวิธีเขียนสาระสำคัญ ไว้ดังนี้1) พิจารณาจุดประสงค์การเรียนรู้ ว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมหรือความรู้ความสามารถด้านใด2) พิจารณาเนื้อหาว่า เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องอะไรเรียนรู้แล้วจะได้รับความรู้ความเข้าใจ ความคิดรอบยอดอะไรหรือได้รับประโยชน์คุณค่าใดจากกเรียนเนื้อหานั้น3) นำผลการเรียนพิจารณาจุดประสงค์การเรียนรู้มาประกอบกับการพิจารณาเนื้อหา แล้วเขียนเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เรียนจะเรียนหรือสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียน
3 การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ในการเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ ครูผู้สอนจะย้อนหลังขึ้นศึกษาหน่วยการเรียนรู้ที่ได้กำหนดเป็นหน่วยย่อย ๆ โดยการวิเคราะห์มาจากมาตรฐานช่วงชั้นผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง แล้วนำมากำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื่องจากผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เป็นความคาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในระยะเวลา 1 ปี หรือ 1 ภาคเรียน ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละครั้งไม่อาจจะสรุปได้ว่า จะบรรลุผลการเรียนที่คาดหวังในข้อนั้น ๆ ทันที ผลกาเรียนรู้ที่คาดหวัง หนึ่งผลการเรียนรู้อาจจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้หลาย ๆ ครั้ง จึงจะบรรลุดังนั้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละครั้งหรือในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ สามารถกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและกำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้โดยการพิจารณาคำสำคัญของมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้1) ด้านความรู้ ได้แก่ รู้จัก รู้จำ เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุป เชื่อมโยง ประเมิน เปรียบเทียบ ตีความ วิจารณ์ เป็นต้น2) ด้านทักษะ ได้แก่ ปฏิบัติ แสดง นำเสนอ ตรวจสอบ ทดลอง สาธิต นำไปใช้ มีส่วนร่วม อภิปราย ประยุกต์ เป็นต้น3) ด้านเจตคติ ได้แก่ ชื่นชม เห็นคุณค่า ภูมิใจ รัก ศรัทธา ซาบซึ้ง หวงแหน นิยม พึงพอใจ เห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์ ยอมรับ เป็นต้นในการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ควรพิจารณาให้ครอบคลุมมาตรฐานและ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ ของการเรียนการสอนแต่ละครั้งจะดีมาก
4 สาระการเรียนรู้/เนื้อหาสาระ เป็นส่วนที่ได้รายละเอียดที่เชื่อมโยงกับสาระ สำคัญและสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ประกอบด้วยทฤษฎี หลักการ วิธีการ แนวปฏิบัติ ครูผู้สอนต้องศึกษาหาความรู้จากเอกสาร ตำราเรียน หนังสือคู่มือครูและแหล่งความรู้ต่าง ๆ นำมาพิจารณาใช้ประกอบให้เหมาะสมกับวัยและระดับของผู้เรียนการเขียนเนื้อหาสาระในแผนการจัดการเรียนรู้ ครูจะเขียนเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดในแผนการจัดการเรียนรู้ ตามหัวข้อที่กำหนดก็ได้แต่หากมีเนื้อหามากเกินไปควรเขียนเฉพาะหัวข้อเรื่องนั้นไว้ ส่วนรายละเอียดให้นำไปใส่ในภาคผนวกท้ายแผนการจัดการเรียนรู้ หรือจะแยกไว้อีกเล่มหนึ่งต่างหากเป็นเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ก็ได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สาระการเรียนรู้หรือเนื้อหาสาระนั้นครอบคลุมทั้งองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนั้น ครูผู้สอนควรตระหนักให้มากมิฉะนั้นแล้วจะมุ่งเน้นไปที่องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว จะทำให้ไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร
5 กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ / กระบวนการจัดการเรียนรู้กิจกรรมการจัดการเรียนรู้หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ คือ ระบบการเรียนรู้หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้สอนจัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกจากจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแล้วจะต้องคำนึงถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ตามธรรมชาติของแต่ละกลุ่มสาระ รวมทั้งทักษะกระบวนการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วย วัฒนาพร ระงับทุกข์ (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2542 : 91 - 93) ได้กล่าวถึงลักษณะของกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้1) สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาสาระ2) ฝึกกระบวนการสำคัญให้ผู้เรียน3) เหมาะสมกับธรรมชาติและวัยของผู้เรียน4) เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและชีวิตจริง5) เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
6 สื่อและแหล่งเรียนรู้ ในการกำหนดสื่อและแหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เน้นให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และต้องเอื้อต้อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สื่อการเรียน การสอนจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งประการหนึ่งต่อการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นการใช้สื่อใกล้ตัว ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นสำคัญ และการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วย สื่อจึงหมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการ และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนนำมาเป็นเครื่องมือช่วยให้ความรู้แก่นักเรียนข้อสังเกตบางประการโดยการใช้สื่อแหล่งเรียนรู้ในการกำหนดในแผนการจัดการเรียนรู้ ครูผู้สอนควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัย ความสนใจความสามารถของผู้เรียน และความสอดคล้องกับกิจกรรมที่กำหนดไว้ โดยในกิจกรรมนั้นควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมจัดหา เลือกและใช้สื่อที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงผลหรือสะท้อนผลการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลและพัฒนาสื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมศึกษาได้ในคู่มือการนิเทศชุดที่ 5 การใช้สื่อนวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้)
7 การวัดผลและประเมินผลเป็นการตรวจสอบว่าผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผนการเรียนรู้หรือไม่ การประเมินใช้วิธีการเครื่องมือและเกณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุ่ม ด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ให้วัดตรงตามสภาพจริงที่เกิดขึ้นด้วยความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ในการตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้ เกี่ยวกับการวัดผลและประเมินผล ควรตรวจสอบประเด็นสำคัญ ได้แก่วิธีการวัดผลเครื่องมือวัดผล เกณฑ์การวัดผลว่ามีความสอดคล้องสัมพันธ์กันหรือไม่ เช่น วิธีการวัด สังเกตความสนใจ ตั้งใจ ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความมีระเบียบในการทำงาน เครื่องมือวัดได้แก่แบบประเมินพฤติกรรมด้านจิตพิสัย วิธีการวัดการปฏิบัติการทดลองเครื่องวัดได้แก่ แบบสังเกตการณ์ปฏิบัติการทดลอง การวัดกระบวนการทำงานกลุ่ม เครื่องมือวัดได้แก่ แบบสำรวจการทำงานกลุ่ม การวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา เครื่องมือวัดได้แก่ แบบทดสอบ และควรตั้งเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องกับวิธีการและเครื่องมือวัดผลด้วย นอกจากนี้ควรมีเครื่องมือ วิธีการ และเกณฑ์การประเมินจากสภาพจริงด้วย
8 การบันทึกผลหลังสอนเป็นการบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ ตามแผนการจัดการเรียนรู้ ควรบันทึกดังนี้
1. ผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 3 ด้าน คือ ด้านองค์ความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ ที่สำคัญก็คือผู้เรียนผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้อย่างไร ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่าไร ร้อยละเท่าไร และที่ไม่ผ่านเกณฑ์คือใคร เลขที่เท่าไหร่ คิดเป็นร้อยละเท่าไร2. ปัญหาอุปสรรค์ ควรบันทึกสาเหตุที่การจัดการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เช่น เรื่องการกำหนดจุดประสงค์มากเกินไป สอนไม่ทัน เนื้อหามากเกินไป เนื้อหาไม่เหมาะสม กิจกรรมสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน การมีส่วนร่วมในการใช้สื่อไม่ทั่วถึง เวลามีน้อยเกินไป สื่อการจัดการเรียนรู้มีน้อยทำให้เสียเวลา แบบประเมินผลยากเกินไปเกณฑ์และวิธีการวัดไม่เหมาะสม เอกสารประกอบการสอนไม่เพียงพอ นักเรียนไม่มีความพร้อม บรรยากาศไม่ดี เป็นต้น
3. ข้อเสนอแนะ บันทึกข้อเสนอแนะในการปรับปรุงตัวผู้เรียนที่ไม่ผ่านและที่ผ่านกิจกรรมตามจุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การวิจัยในชั้นเรียนและการซ่อมเสริมผู้เรียน บันทึกข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ว่าควรปรับปรุงส่วนใด บันทึกข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสื่อนวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนเครื่องมือการวัดและประเมินผล สิ่งสำคัญคือเสนอแนะไปตามสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงการตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ ในการตรวจสอบและประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ อาจดำเนินการได้ตั้งแต่ก่อนนำไปใช้ ระหว่างการใช้ และเมื่อสิ้นสุดการใช้ สามารถตรวจสอบบทบาทของผู้เรียน บทบาทของครูผู้สอน และตรวจสอบองค์ประกอบต่าง ๆ ของแผนการจัดการเรียนรู้ว่าสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างไร ในการนำเสนอวิธีการและเครื่องมือในการตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สะดวกในการประยุกต์ใช้ และปฏิบัติได้จริงไม่ยุ่งยากจนเกินไป จึงได้ประยุกต์แนวความคิดของวัฒนาพร ระงับทุกข์ (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2542 : 170 – 184) และประยุกต์เครื่องมือการตรวจสอบพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของ ธัญญา บินโหรน (ธัญญา บินโหรน. 2543 : 117 – 119) ซึ่งเป็นบทบาทของผู้เรียนและครูผู้สอน ตามทฤษฎีและหลักการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งการตรวจสอบและประเมินองค์ประกอบสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ว่ามีความถูกต้องครอบคลุมชัดเจนและสัมพันธ์กันหรือไม่เพียงใด โดยมีแนวการตรวจสอบตั้งแต่ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและจุดประสงค์การเรียนรู้ สาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก กิจกรรมการเรียนรู้หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ ตรวจสอบสื่อแหล่งเรียนรู้ ตรวจสอบการวัดผลและประเมินผล ตลอดจนกิจกรรมเสนอแนะ ซึ่งจะได้สรุปประเด็นเป็นตัวอย่างเครื่องมือตรวจสอบ ดังนี้
1. การเตรียมการจัดการเรียนรู้
1) การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ล่วงหน้าเสมอ
2) มีสาระสำคัญหรือแนวคิดหลักถูกต้อง
3) มีจุดประสงค์การเรียนการสอนสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
4) มีจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจน
5) มีกิจกรรมตามขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
6) เขียนกิจกรรมตามขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
7) เตรียมการทั้งเนื้อหาและวิธีการจัดการเรียนรู้
2. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
1) มีกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน
2) มีการทบทวนความรู้เดิมของนักเรียน
3) มีการเลือกวิธีสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาและจุดประสงค์
4) มีการเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคล
5) มีการแสดงความเมตตาต่อนักเรียนอย่างทั่วถึง
6) มีการจัดสภาพการณ์ให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์
7) มีการส่งเสริมให้นักเรียนฝึกคิดฝึกทำและปรับปรุงตนเอง
8) มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
9) มีการฝึกให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรง สัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
10) มีการให้นักเรียนฝึกปฏิบัติจนค้นพบความถนัดของตนเอง
11) มีการเสริมแรงให้ค้นหาคำตอบแก้ปัญหาพึ่งตนเองและช่วยกัน
12) มีการให้นักเรียนได้ฝึกค้น รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง
13) การให้นักเรียนได้เลือกทำกิจกรรมความสามารพความสนใจ
3. การใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้
1) มีการเตรียมสื่อประกอบการสอนล่วงหน้า
2) มีการใช้สื่อที่เร้าความสนใจของผู้เรียน
3) ใช้สื่อการสอนเพื่อการฝึกคิด การแก้ปัญหา
4) ใช้สื่อการสอนเพื่อการค้นพบความรู้
5) สื่อมีความสอดคล้องกับเรื่องที่สอน
6) ใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมโยงประสบการณ์จริง
4. การวัดผลและประเมินผล
1) มีการกำหนดวิธีวัดผลและประเมินผลไว้ล่วงหน้าอย่างหลากหลาย
2) มีการใช้คำถาม กิจกรรมการตรวจสอบผลการเรียนของนักเรียนเป็นระยะ
3) มีเครื่องมือวัดสอดคล้องกับจุดประสงค์และกระบวนการเรียนรู้
4) สังเกตประเมินพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
5) มีการวัดผลตามสภาพจริง
6) เกณฑ์การประเมินมีความสอดคล้องกับระดับความสามารถของผู้เรียนข้อเสนอแนะในการประเมินและตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ ควรตรวจสอบจากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้ดำเนินการสอนมาแล้ว หรือก่อน ลงมือสอนในภาคเรียนถัดไป เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป อีกประการหนึ่งควรตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เป็นรายหน่วยอย่างน้อยหนึ่งหน่วยย่อย เพราะถ้าไม่กระทำเช่นนั้นแล้วการตรวจสอบจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าหากการตรวจสอบครบถ้วนสมบูรณ์ในหนึ่งหน่วยการเรียนรู้ก็จะประเมิน ได้ว่า การเตรียมการจัดการเรียนรู้พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนคนนั้นมีความสมบูรณ์ครบถ้วนและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามหลักการและทฤษฎีของการปฏิบัติการเรียนรู้

ตัวอย่างการเขียนแผนการสอนของท่านอาจารย์จตุพร ภู่ศิริภิญโญ
http://th.upload.sanook.com/A0/325333d021fa08ba8ea9ab4b00bf93f6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น