วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

2.เดือนยี่ บุญคูณลาน

บุญคูณลานเป็นการทำบุญขวัญข้าวที่นวดเสร็จและกองไว้แล้วในลานข้าว กำหนดทำในเดือนยี่จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้นเนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมาก ๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป
ก่อนทำบุญคูณลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่งบางอย่าง เรียกว่า ไปเอาหลัวเอาฟืน โดยชาวบ้านกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้วพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้สาว ๆ ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้านบ้าง (คำว่าหลัว หมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน หมายถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป)
มูลเหตุดั้งเดิมที่จะมีการทำบุญคูณลาน มีเรื่องเล่าว่า ครั้งพุทธศาสนาของพระกัสสะปะมีชายสองคนพี่น้องทำนาในที่เดียวกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำมัน น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองพี่น้องจึงแบ่งนากันคนละส่วน เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึงเก้าครั้ง นับแต่เวลาข้าวเป็นน้ำนมก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่งเวลาข้าวพอเม่า ก็ทำข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟอนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง และเวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่งและตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต พอถึงพุทธศาสนาของพระสมณโคดมถึงได้เกิดเป็นโกณฑัญญะ ได้ออกบวชและสำเร็จพระอรหันต์เป็นปฐมสาวก ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนพี่ชายได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงศาสนาพระสมณฅโคดมได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชกได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้าย ในพระพุทธศาสนาเนื่องจากอานิสงส์จากให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าวจึงได้นิยมทำบุญคูณลานต่อ ๆ กันมา
วิธีดำเนินการ
เมื่อกำหนดวันทำบุญได้แล้ว ก็บอกญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญตอนเย็นโดยนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป และอย่างมากไม่เกิน 9 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ที่ล้านข้าวจัดที่บูชาพระรัตนตรัยเอาด้ายสายสิญจน์พันรอบฐานพระพุทธรูปและภาชนะใส่น้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งด้ายสายสิญจน์ผ่านพระสงฆ์ให้ท่านจับขณะสวดพระพุทธมนต์ แล้วขึงต่อไปรอบ ๆ ลาน และกองข้าว เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จก็มีเทศนาฉลอง 1 กัณฑ์ หรือจะจัดให้มีเทศน์ตอนเช้าภายหลังถวายภัตตาหารก็ได้ กลางคืนอาจมีมหรสพคบงัน เช่น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ และอื่น ๆ หรือแล้วแต่จะจัดหามาคบงันได้ ตอนเช้ามีถวายอาหารบิณฑบาต ภายหลังพระฉันภัตตาหารเสร็จหากยังมิได้เทศนาในตอนกลางคืน ก็นิมนต์พระเทศน์ตอนนี้ เสร็จแล้วพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้มาร่วมงาน และเจ้าของนานำน้ำพระพุทธมนต์ไปรดตามกองข้าวและท้องนาเพราะเชื่อว่าปีต่อไปข้าวกล้าในนาจะงอกงามดี ปราศจากศัตรูใด ๆ มาทำอันตรายและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับไปตลอดเทพยดาทั้งหลาย เมื่อได้ส่วนกุศลแล้วจะได้อวยชัยให้พรให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวในนาจะได้เจริญงอกงาม นอกนี้จะมีพิธีสู่ขวัญลานและเลี้ยงอาหารแขกผู้มาร่วมงานด้วยเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงขนข้าวใส่ยุ้ง
อนึ่ง ที่กองข้าวเปลือกในลานบางแห่งมีการแต่งเครื่องขวัญข้าว คือ มีดอกไม้ ธูปเทียน กล้วย อ้อย เมี่ยงหมาก ขนม ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวนึ่ง ไข่ต้ม เป็นต้น ใส่ไว้ในภาชนะ เช่น ตะกร้า กระจาดใบเล็ก ๆ ตั้งไว้กองข้าวเปลือก เมื่อขนข้าวใส่ยุ้งเสร็จ ตอนกลางคืนเจ้าของจะกล่าวเชิญขวัญข้าว คือเจ้าแม่โพสพไปยังยุ้งข้าวของตน พร้อมกับนำเครื่องขวัญข้าวดังกล่าวไปไว้ในยุ้งข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
เมื่อขนข้าวจากลานมาใส่ยุ้งเรียบร้อยแล้ว หากยังมิได้ทำบุญคูนลาน ชาวบ้านบางหมู่บ้านนิยมการสู่ขวัญเล้า (ยุ้งข้าว) โดยจัดทำพานบายศรี ซึ่งประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน เมี่ยงหมาก และอาหารคาวหวานเหมือนเครื่องขวัญข้าวแล้วเชิญชายผู้สูงอายุ (หมอสู่ขวัญ) ผู้มีความชำนาญในการทำพิธีเรียกขวัญมาพิธีสู่ขวัญคล้ายทำพิธีสู่ขวัญทั่วไป เสร็จแล้วก็จัดอาหารเลี้ยงบรรดาผู้มาร่วมพิธี เป็นอันเสร็จพิธีสู่ขวัญเล้า
คำสู่ขวัญลานและสู่ขวัญเล้า มีดังต่อไปนี้คำสู่ขวัญลาน
โองการ พินธุ นาถัง อุปปังนัง พรหมสะหะปตินามะ อากิกัปเป ปัญจะปะทุมัง ทิสะวา นะโมพุทธายะ วันทะติสิทธิ กัจจัง สิทธิการิยะ ตะถาคะโต สิทธิเตโช ตะถาคะโต สิทธิเตโช ชะโย นิจจัง สัพพะกัมมัง ปะสิทธิเม ศรี ศรี มื้อนี้แม่นมื้อสัน วันนี้แม่นวันโชค ศุกร์เสาร์โยคเดชมงคล อันเป็นผลสมประโยค อุดมโชคว่ายามดีฝูงข้าทั้งหลายจึงพร้อมกันมาทำพิธีสู่ขวัญลานแลกุ้มข้าว สู่ข้าวเล้าแลขวัญเยีย บ่ให้เสียประเพณีฮีตเก่า จึงได้นิมนต์พระสังฆเจ้ามีศีลมีธรรม เพื่อกุศลมหกรรมการฉลองสมโภช อันจักได้สำเร็จประโยชน์บุญสมภารจึงได้สู่ขวัญลานอันใหญ่กว้าง เทียมดั่งลานพระเกศแก้วจุฬามณี คือดังลานพระศรีมหาโพธิ อันให้สำเร็จประโยชน์แก่พระโพธิญานเป็นรมณียสถานอันวิเศษ เทียมดั่งลานพระเจ้าตัดเกศแทบฝั่งอโนมา คือดั่งลานพระองค์ตรัสเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร เป็นดั่งลานพระเจ้าประสูติในสวนลุมพินี เป็นดั่งลานพระเจ้าประสูติในสวนลุมพินี เป็นดั่งลานพระเจดีย์สิงกุตตราช เป็นที่บรรจุอุรังคธาตุแห่งพระศาสนา คือลานบ่อนพระสงฆ์ทำสังคายนาธรรมวินัยครั้งก่อน เปรียบดั่งลานบ่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่พระนิพพาน เป็นที่โมทนาสาธุการแห่งเทวาทุกหมู่ ลานนี้เป็นอู่ข้าวแห่งพระสังฆเจ้าแลทวยชน เป็นที่บำเพ็ญผลแก่ทั้งมวลฝูงข้า จึงได้พร้อมกันจัดเสื้อผ้าแลเครื่องไทยทาน ทั้งคาวหวานแลเมี่ยงหมาก ครบทุกภาคเครื่องบูชาทั้งเหล้ายาหมูเห็ดเป็ดไก่ ตามแต่จักได้อันเป็นเครื่องสังเวย มาเยอขวัญเอย ขวัญลานแลขวัญข้าวให้พร้อมกันมาเต้าจุ่นพุ่นเต็มสถานเพื่อจักได้กินทานทำบุญตักบาตร แล้วซิได้หยาดน้ำเถิงแม่ธรณีอย่าได้มีคำกินแหนงขมเคียด อย่าอยู่ช้าวันนี้ให้มา ให้เจ้ามาโฮมเข้าในลานเกลี้ยงอ่อนห่อยเขาหาดีต่อยฟาดหัวเจ้ากระเทือน อย่าให้เบือนขมด้อยในมโนคึดเคียด ว่าเขาบังเบียดเจ้าเอาค้อนฟาดตีอย่าได้ตกใจย้านหยานหนีลี้ซ่อน ขอให้เฮ็วฮีบฮ้อนคือถ้อนเทียวพลันเชิญชวนเจ้าคืนมาเต้าธัญญากุ้มใหญ่ขอจงมาต่อตุ้มกองข้าวให้ใหญ่สูง แม่นว่าทำปีหน้าสิบสองวาอย่าให้ขาดคันแม่นฟาดปีหน้าพุ้นซาวห้าอย่าให้คา ขอให้ธัญญาข้าวไหลมาคือน้ำท่า คือดั่งฝนห่าแก้วรินเรื่อยบ่ขาดสาย นาทามขอให้งามเหลือล้ำลำสูงต้นใหญ่ ปลายใฝ่ขอให้เอิ้นว่าน้องฮวงข้าวไขว่ขีน โอม ธัญญะ อาคัจ ฉันตุ
คำสู่ขวัญเล้า (ยุ้งข้าว)
พุทธัง สัตตะรัตนะปาการัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สัตตะรัตนะปาการัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สัตตะรัตนะปาการัง สะระณัง คัจฉามิ พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ

โอม ศรี ศรี ชัยะ มหามงคลเลิศล้น เป็นวันดีพ้นเพิ่นเหลือหลาย ผูงข้าจะได้ขวนขวายหาเครื่องบายศรีสู่ขววัญยุ้งข้าวและขวัญเยีย เพื่อจักปัองกันเสียซึ่งอุบัติเหตุ อาเภทเสื่อมสูญหาย ขอเชิญเทพยดาทั้งหลายในบริเวณขงเขต จงทราบเหตุด้วยทิพยเนตร ทิพโสตทั้งสอง จงมาช่วยประคับประคองขวัญเยียและขวัญเล้าขวัญยุ้งข้าวและขวัญฉาง เพื่อว่าจักลูถ่างได้กินได้ทานผายแผ่แก่พระสังฆเจ้าและทวยชน อันเป็นผลสมประโยคอุดมโชคว่าวันดี ข้าจึงทำบายศรีสู่ขวัญเล้า ขอเชิญเทพเจ้าได้ช่วยอวยพรให้เจียรกาลสถาพรวิลาส อย่าได้บกเป็นหาดอย่าได้ขาดเป็นวัง สัพพะกำลังยังเต็มดีดั่งเก่า กะทอดเล้าได้โสตส่วนพอดี พี่น้องไกลแล่นมาฮอด มาจอดแล้วอิ่มสำราญ เลี้ยงบริวารได้พอฮ้อย เลี้ยงข้อยข้าได้พอพัน มาเยอขวัญเอย ขวัญเสาแลกะทอด ปัดขอดขวัญแปแลซะยัวขวัญขัวหนูแลอกไก่ ขวัญฝาแอ้มใส่ทาเปือะ ขวัญกระดานแลแป้นฝ้าทั้งขวัญหญ้าแลขวัญกลอน อย่าได้คิดอาวรณ์แลโศกเศร้า จงพร้อมกันอาฮักษาข้าในเยีย อย่าได้เสียแก่หนูแลหมู่ปลวกกับทั้งปอปเป้าแลโพงผีอันเป็นอลัชชีเที่ยวขโมยยามค่ำ ตะวันตกต่ำขวัญข้าวจงฮักษา อย่าให้คนพาลามาขโมยเอาข้าว ขอให้ขวัญแจ่มเจ้าคูณข้าวอยู่เยียขอให้ขวัญแจ่มเจ้าคูณเกลืออยู่ล่วง คือดังปลวกอยู่ฟื้นคูณอ้นเฮ็ดโพนขอให้คูณกันขึ้นคือเขาไกรลาส คือดังขวยตุ่นอันคูณขึ้นให้มั่งมูล ขอให้คูณกับขึ้นคือขวยมดง่าม อย่าได้บกขาดแห้งคือแกงหลี่ผี แม่นว่าเขาตักข้าวมาตำฮ้อยกระต่าขอให้เต็มอยู่เรื่อย ๆคือน้ำแม่ชะแล อย่าได้บกขาดแห้งแล้งไหง่เป็นผงขอให้ยังเต็มเปลี่ยมอย่างลงบกแห้ง ขอให้พากันตุ้มธัญญาให้เต็มเปี่ยม ขอให้ขวัญเล้าตุ้มเอาข้าวอย่าให้สูญ พุทธังปิด ธัมมังปิด สังฆังเปิด ทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น