บุญเข้าพรรษาถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนแปดเป็นวันทำบุญ เป็นประเพณีที่ถือมาแต่โบราณครั้งพุทธกาล เพราะในฤดูฝน เมื่อฝนตกหนทางไปมาไม่สะวก เป็นการลำบากในการที่พระภิกษุจะสัญจรไปมา และบางครั้งพระภิกษุอาจเดินเข้าไปในเรือกสวนไร่นาเหยียบย่ำพืชผักของชาวบ้านเสียหาย จึงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำที่หรือเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด เพื่อให้พระภิกษุสามเณรอยู่เป็นที่โดยเหตุผลดังกล่าวและในระหว่างเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจะได้ถือโอกาสเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่าง ๆ เพื่อจะนำไปสั่งสอนพุทธศาสนิกชนต่อไปด้วย ในระหว่างเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจะไปพักค้างคืนที่อื่นไม่ได้นอกจากไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือการไปค้างคืนนอกวัดในระหว่างอยู่จำพรรษาของพระเมื่อมีเหตุจำเป็นได้แก่
1. สหธรรมิก (ผู้มีธรรมอันร่วมกัน) หรือมารดาบิดาป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาล
2. สหธรรมิกกระสันจะสึก ไปเพื่อระงับ
3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุด ไปเพื่อปฏิสังขรณ์
4. ทายกบำเพ็ญกุศล สงมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้ธุระอื่น นอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะอนุโลมตามนี้ก็ไปค้างที่อื่นได้ และการไปในกรณีดังกล่าว ต้องกลับมาภายใน 7 วัน หมายความว่าไปได้ไม่เกิน 7 วันนั้นเอง มูลเหตุที่จะมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์เข้าพรรษา เรื่องมีอยู่ว่าครั้งพุทธกาลเพื่อพระพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า "ฉัพพัคคีย์" เที่ยวไปมาตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ไม่ได้หยุดพักเลย เมื่อคราวฝนตกแผ่นดินชุ่มด้วยน้ำฝน ก็เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าและหญ้าระบัดเขียว ทั้งสัตว์เล็กๆ เป็นอันตรายประชาชนทั่วไปพากันติเตียนว่า แม้แต่พวกเดียรสถีย์ปริพาชกเขายังหยุด ที่สุดแม้นกยังรู้จักทำรังอาศัยบนยอดไม้หลบหลีกฝน แต่พระสมณะศากยบุตรทำไมจึงเที่ยวอยู่ได้ทั้งสามฤดู เหยียบหญ้าและต้นไม้ที่เป็นของชีวิตอยู่ ทั้งทำสัตว์ทั้งหลายให้ตายเป็นอันมากเช่นนี้ เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินคำตำหนิติเตียนเช่นนั้น จึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ตอนนี้เรียกว่าพรรษาแรกแต่ถ้าพระภิกษุรูปใดไม่สามารถเข้าพรรษาได้ตามกำหนดดังกล่าว อาจเข้าพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเก้าเป็นต้นไปจนครบ 3 เดือนก็ได้ เรียกว่าพรรษาหลังในระหว่างเข้าพรรษาให้พระภิกษุอยู่ในวัดแห่งเดียวไม่อนุญาตให้ไปพักแรมที่อื่นตลอด 3 เดือน ถ้าพระภิกษุเที่ยวไปกลางพรรษา หรืออธิษฐานจำพรรษาแล้ว อยู่ครบ 3 เดือนไม่ได้ ต้องอาบัติทุกกฎเว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ปรกติไปได้ไม่เกิน 7 วัน ประเพณีให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา คือ อยู่ในวัดแห่งเดียวไปค้างที่ไหนไม่ได้ 3 เดือน จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิธีดำเนินการ เมื่อถึงวันทำบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาต่างก็จัดอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ไปถวายพระ บางคนก็นำสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ มี ไตรจีวร ตั่งเตียง ยารักษาโรค ผ้าห่มนอน ตะเกียง ธูปเทียนเป็นต้นไปถวาย โดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง น้ำมัน เป็นต้น ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื่อว่าการถวายทานแสงสว่างแด่พระภิกษุสงฆ์จะได้อานิสงส์แรงทำให้ตามทิพย์และสติปัญญาดี ก่อนวันเข้าพรรษา ทางวัดจะเที่ยวบอกบุญชาวบ้านขอให้ไปหาขี้ผึ้งมาหล่อเป็นเทียนโดยจัดทำเป็นเล่มหรือแท่งขนาดใหญ่ และทำเป็นต้น เรียกว่า ต้นเทียน มีการประดับประดาอย่างสวยงาม พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนแปด ก็พากันแห่ไปถวายวัด บางแห่งแบ่งการหล่อเทียนออกเป็นคณะ ก่อนนำไปถวายวัดมีการประกวดต้นเทียนกันด้วย ขบวนต้นเทียนที่จัดเป็นคณะ มีการฟ้อนรำและการละเล่นพื้นเมืองประกอบ สนุกสนานเฮฮากัน เมื่อไปถึงวัดก็มีการทำพิธีถวายเทียน ผ้าอาบน้ำฝน และบริวารอื่น ๆ แต่พระภิกษุสามเณรและมีการฟังเทศน์ด้วยบางแห่งชาวบ้านชายหญิงเข้าโบสถ์สวดบทธรรมเป็นทำนองสรภัญญ์ เริ่มแต่อาราธนาศีล อาราธนาธรรม ตลอดจนบทเรียนเกี่ยวกับการประพฤติการปฏิบัติ และพรรณาถึงคุณของผู้มีอุปการคุณ ซึ่งมีท่วงทำนองไพเราะจับใจมากทำให้ผู้สวดและผู้ฟังจิตใจสงบสุข บางหมู่บ้านอาจมีสวดสรภัญญ์แข่งขันกัน ผ้าอาบน้ำฝน คือผ้าที่พระภิกษุใช้นุ่งอาบน้ำ สีอนุโลมตามสีจีวร ขนาดยาว 4 ศอก 1 กระเบียด กว้าง 1 ศอก 1 คืบ 1 กระเบียด 2 อนุกระเบียด ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเจ็ด ถึงกลางเดือนแปดเป็นเวลาที่พระภิกษุแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ผู้มีศรัทธาอาจถวายผ้าอาบน้ำฝนได้ ตามกำหนดนี้โดยมากนิยมถวายกันในวันเพ็ญเดือนแปด มูลเหตุที่มีการถวายผ้าอาบน้ำฝน เดิมพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เพียงผ้า 3 ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าห่ม 1 และผ้านุ่ง 1 ครั้งถึงฤดูฝนพระภิกษุบางรูปจะอาบน้ำฝนไม่มีผ้าจะนุ่งอาบ จึงเปลือยกายอาบน้ำ วันหนึ่งนางวิสาขาใช้สาวใช้ไปวัดขณะฝนตก สาวใช้เห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน จึงกลับมาเล่าให้นางวิสาขาฟัง นางวิสาขาจึงกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝน พระองค์จึงทรงอนุญาตเขตกำหนดแสวงหาผ้าและเวลาให้ผ้าอาบน้ำฝน ให้พระภิกษุถือเป็นกิจวัตรปฏิบัติตั้งแต่นั้นมา
คำถวายเทียนและคำถวายผ้าอาบน้ำฝน มีดังต่อไปนี้
คำถวายเทียน
อิมานิ มะยัง ภันเต ปะทีปัง สะปะริวารัง ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกษุสังโฆ อิมานิ ปะทีปัง สะปะริวารัง ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับเทียนและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยังภันเต วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหาหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น