วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

การพัฒนาทักษะการคิด

ในการพัฒนาสมองของผู้เรียน ให้ใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่าการจัดการเรียนการสอนนั้น ควรจัดอย่างสมดุล ให้มีการพัฒนาสมอง ทั้งซีกซ้ายไปด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสมดุล ในการคิด และคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เอนเอียงไปในหลักการเหตุผลมาก เสียจนคิดอยู่ในกรอบ ของความคิดแบบเดิม
ยุคอนาคตนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วมากขึ้น เพราะมีการสื่อสารความคิด และความรู้สึกกันได้ อย่างง่ายดาย และอย่างกว้างขวาง ด้วยวิทยาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีการก่ายกันขึ้นไปบนฐานความรู้ ที่นับวันฐานนั้นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คนที่จะได้รับการยอมรับอย่างโดดเด่น จึงต้องเป็นคนที่คิด และทำ แตกต่างจากคนอื่นทั่วไป นั่นคือ มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะต่องานที่ต้องการ ความแปลกแตกต่าง เช่น ธุรกิจ ต้องการสร้างจุดขายสินค้า หรือบริการเพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่เสมอ องค์กรต่างๆ ต้องการการปฏิรูปภายใน ภาพรวมระดับประทศ ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ในการปฏิรูปครบวงจร ทั้งประเทศ เป็นต้น กิจการเหล่านี้ ล้วนต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น
ความคิดสร้างสรรค์ในนิยามของผม ควรจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ประการแรก สิ่งใหม่ (new, original) เป็นการคิดที่แหวกวงล้อมความคิดที่มีอยู่เดิม ที่ไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร แม้กระทั่งความคิดเดิมๆ ของตนเอง ประการที่สอง ใช้การได้ (workable) เป็นความคิดที่เกิดจากการสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้ง และสูงเกินกว่าการใช้เพียง "จินตนาการเพ้อฝัน" คือ สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นจริง และใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม และสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ ของการคิดได้เป็นอย่างดี และประการที่สาม มีความเหมาะสม เป็นความคิดที่สะท้อนความมีเหตุมีผล ที่เหมาะสม และมีคุณค่า ภายใต้มาตรฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
การที่คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ ได้ตามลักษณะที่กล่าวมานั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพการทำงาน และการพัฒนาของสมอง ซึ่งสมองของคนเรามี 2 ซีก มีการทำงานที่แตกต่างกัน สมองซีกซ้าย ทำหน้าที่ในส่วนของการตัดสินใจ การใช้เหตุผล สมองซีกขวา ทำหน้าที่ในส่วนของการสร้างสรรค์ แม้สมองจะทำงานต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมองทั้งสองซีก จะทำงานเชื่อมโยงไปพร้อมกัน ในแทบทุกกิจกรรมทางการคิด โดยการคิดสลับกันไปมา อย่างเช่น การอ่านหนังสือ สมองซีกซ้ายจะทำความเข้าใจ โครงสร้างประโยค และไวยากรณ์ ขณะเดียวกัน สมองซีกขวาก็จะทำความเข้าใจ เกี่ยวกับลีลาการดำเนินเรื่อง อารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในข้อเขียน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาสมองทั้งสองซีกไปพร้อมๆ กัน ไม่สามารถแยกพัฒนาในแต่ละด้านได้ การค้นพบหน้าที่แตกต่างกันของสมองทั้งสองส่วน ช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากได้มากขึ้น
ในการพัฒนาสมองของผู้เรียน ให้ใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านการจัดการเรียนการสอนนั้น ควรจัดอย่างสมดุล ให้มีการพัฒนาสมองทั้งสองซีกไปด้วยกัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสมดุลในการคิด และคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เอนเอียงไปในหลักการเหตุผล มากเสียจนติดอยู่ในกรอบ ของความคิดแบบเดิม และไม่ใช่การคิดด้วยการใช้จินตนาการเพ้อฝันมากเกินไป จนไม่มีความสัมพันธ์กัน ระหว่างความฝัน กับความสมเหตุสมผล ซึ่งจะทำให้ไม่สมารถนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การคิดสร้างสรรค์ จึงพึ่งพาทั้งสมองซีกซ้าย และขวาควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม การที่คนแต่ละคนจะคิดสร้างสรรค์ได้มากน้อย เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญหลายประการ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีควรมีทุกคน เพราะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในตนเอง ได้แก่
1. องค์ประกอบด้านทัศนคติ และบุคลิกลักษณะ
คนที่รู้เพียงเทคนิควิธีการคิดสร้างสรรค์นั้น อาจจะสามารถคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมีทัศนคติ และบุคลิกภาพในเชิงที่สร้างสรรค์ เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย บุคคลนั้นจะสามารถคิดสร้างสรรค์ ได้อย่างดีมาก นักคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ จะมีทัศนคติ และบุคลิกลักษณะหลายประการ อาทิ เป็นคนที่เปิดกว้างต่อการรับประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยท่าทีที่ยินดี จะเรียนรู้เสมอ มีอิสระในการคิดพินิจ และตัดสินใจ กล้าเผชิญความเสี่ยง มีความเชื่อมั่น และเป็นตัวของตัวเอง มีทัศนคติเชิงบวก ต่อสถานการณ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย มีแรงจูงใจอันสูงส่ง ที่จะประสบความสำเร็จ เป็นคนที่ยินดีทำงานหนัก มีความสนใจต่อสิ่งที่มีความสลับซับซ้อน อดทนต่อปัญหาที่ยังมองไม่เห็นทางออก หรือคำตอบ บากบั่น อุตสาหะ เรียนรู้จากความล้มเหลว ให้เป็นบทเรียนของชีวิต และสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยมีความสุขุม และมีความมั่นคงในจิตใจเพียงพอ
2. องค์ประกอบด้านความสามารถทางสติปัญญา
ความคิดสร้างสรรค์ จัดว่าเป็นทักษะระดับสูง ของความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถเหล่านี้ ได้แก่
ความสามารถในการกำหนดขอบเขต ของปัญหา ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ จะไม่มองปัญหาที่เห็นอยู่ตรงหน้า ด้วยสายตาธรรมดา หรือด้วยความคิดที่ไม่สู้ แต่มองด้วยมุมมองแบบใหม่ เพื่อทำให้เห็นทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เหมาะสมกว่า โดยเริ่มต้นด้วยการให้นิยาม หรือกำหนดขอบเขตของปัญหา ที่ต้องการแก้ไขได้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงตั้งเป้าหมาย เพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น ในแนวทางที่สร้างสรรค์กว่าเดิม
ความสามารถในการใช้จินตนาการ ในการพิจารณาปัญหา เพื่อนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ การวาดภาพจากจินตนาการ ช่วยทำให้การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เกิดได้ง่ายขึ้น เช่น การที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) สามารถพัฒนาทฤษฎีสัมพันธภาพ ได้จากการวาดภาพว่า ตนเองกำลังท่องเที่ยวไปบนลำแสง ที่ยาวไกลลำแสงหนึ่ง
ความสามารถในการคัดเลือกอย่างมียุทธศาสตร์ มีลักษณะดังเช่น ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ความสามารถในการมุ่งสู่หนทาง การแก้ปัญหาที่มีศักยภาพ ความสามารถในการตัดทางเลือก ที่ไม่เกี่ยวข้องออก ความสามารถในการรู้ว่า เวลาใดจะต้องใช้การคิดแบบใด จึงจะเหมาะสม และช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ เป็นต้น
ความสามารุในการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ การที่เราจะได้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดนั้น เราควรจะมีความสามารถ ในการแยกแยะ และคัดเลือกความคิดที่ดี และเหมาะสมท่ามกลางแนวความคิด ที่เป็นไปได้มากมาย โดยคัดเลือกเฉพาะความคิด ที่มีความสอดคล้องกัน มารวบรวมประกอบกัน เพื่อสร้างเป็นความคิดใหม่ขึ้น และนำความคิดใหม่ที่ได้นั้น มาพิจารณาประเมินคุณค่า ในลำดับต่อไป ความสามารถในการประเมิน ทำให้เกิดคววามก้าวหน้าในการแก้ปัญหา อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ ความปรารถนาที่จะให้ได้คำตอบ ที่มีคุณภาพสูง เป็นสิ่งใหม่ที่ดีกว่า และมีความเหมาะสมยิ่งกว่า
3. องค์ประกอบด้านความรู้ ความรู้เป็นเหมือนดาบสองคม ที่มีผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในมุมบวก และมุมลบ จากการศึกษาวิจัยของ Rosenman, M.F. ใน Jurnal of Creative Behavior ใน 1988 พบว่า ความรู้ที่สะสมมาเป็นเวลาหลายปีนั้น มีความสำคัญต่อการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คนที่มีความรู้ มักจะคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าคนที่ไม่มีความรู้ เพราะทำให้เข้าใจธรรมชาติของปัญหาได้กว้าง และลึกซึ้งกว่าคนที่ขาดฐานข้อมูลความรู้ ช่วยทำให้เราสามารถคิดงานที่มีคุณภาพ เพราะมีรากฐานของความรู้ เกี่ยวกับเรื่องนั้นรองรับ และช่วยกระตุ้นให้มีการคิดต่อยอดความรู้ต่อไป อันเกิดจากการได้รับความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้รับ หรือมีอยู่ มาขบคิด และก่อร่างขึ้นเป็นต้นกำเนิดของความคิดอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ความรู้กลับอาจเป็นตัวขัดขวาง ความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย หากยึดติดในความรู้ที่มีอยู่มากเกินไป จนเป็นอุปสรรค ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการคิดออกนอกกรอบ หรือคิดจากมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างขวางขึ้น
4. องค์ประกอบด้านรูปแบบการคิด รูปแบบการคิดของแต่ละคน มีผลต่อการรับรู้ และบุคลิกลักษณะของคนๆ นั้น รูปแบบการคิดจะช่วยให้เกิดการประยุกต์ ความสามารถทางสติปัญญา และความรู้ของคนๆหนึ่ง ในการแก้ปัญหา คนสองคนอาจจะมีระดับสติปัญญาเท่าเทียมกัน ต่างกันตรงรูปแบบการคิด งานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่า รูปแบบการคิดของคนบางคน ช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่รูปแบบการคิดของบางคน ขัดขวางการคิดสร้างสรรค์ เช่น ความสมดุลในการคิด แบบมองมุมกว้าง กับการคิดแบบมองมุมแคบ การคิดในมุมแคบ เป็นการคิดแบบลงในรายละเอียดของปัญหา ส่วนการคิดในมุมกว้าง เป็นการคิดแบบมองกว้าง ในระดับทั่วไปของปัญหา ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มักจะต้องมองในภาพกว้างก่อน หรือคิดในมุมกว้างก่อน จากนั้น จึงค่อยพิจารณาลงในรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ ให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ที่สุด
5. องค์ประกอบด้านแรงจูงใจ แรงจูงใจเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่กระตุ้นให้คนต้องการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีทั้งแรงจูงใจภายใน และแรงกระตุ้นจากภายนอก แรงจูงใจกระตุ้นจากภายใน ที่มีประโยชน์ต่อความคิดสร้างสรรค์ เช่น ความต้องการประสบความสำเร็จ ความต้องการสิ่งใหม่ๆ การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น เป็นต้น คนที่มีแรงกระตุ้นจากภายใน มักจะบอกว่า เขาทำงานนี้ เพราะรู้สึก "สนุก" หรือไม่ก็ค้นพบว่า มัน "น่าสนใจ" และจะพึงพอใจ เมื่องานที่ทำนั้นประสบความสำเร็จ ส่วน แรงกระตุ้นจากภายนอก จะมีลักษณะตรงกันข้าม คือ การที่สิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นผู้ยื่นเสนอรางวัล ยกตัวอย่างเช่น เงิน ความก้าวหน้าในการทำงาน การได้รับการยกย่องจากหัวหน้างาน การมีชื่อเสียง การได้รับรางวัล เป็นต้น จากการศึกษา พบว่า คนที่ถูกกระตุ้นด้วยรางวัลนั้น จะมีความคิดสร้างสรรค์ต่ำกว่า คนที่มีแรงกระตุ้น จากความต้องการที่อยู่ภายใน หรือการได้รางวัลที่ไม่เกี่ยวข้อง กับงานที่ทำอยู่ อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจจากภายใน และภายนอกที่ผสมผสานกันอย่างสมดุล จะช่วยให้การทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ บรรลุวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี
6. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม การที่คนเราจะสามารถคิดสร้างสรรค์ ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมร่วมด้วยเป็นสำคัญ คนที่มีลักษณะการสร้างสรรค์ มักเป็นผู้ที่ได้รับการกระตุ้น และได้รับการส่งเสริมสนับสนุน โดยการสร้างบรรยากาศ ที่ไม่มีการสร้างกรอบมาตรฐานมาบีบรัด อันได้แก่ สังคมที่ส่งเสริมสิทธิแสรีภาพ ในการแสดงออกของประชาชน สังคมที่ส่งเสริมความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม สังคมที่มีแบบอย่าง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สังคมที่ให้รางวัล และสนับสนุนคนที่คิดแตกต่าง สังคมที่ส่งเสริมการแข่งขัย ทางธรกิจอย่างเสรี บริบทสังคมเช่นนี้ ย่อมส่งเสริมให้คในสังคมนั้น มีความคิดสร้างสรรค์
ในทางตรงกันข้าม คนบางคน หรือกลุ่มคนในบางสังคม อาจเรียกได้ว่า เป็นคนที่ขาดความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่หล่อหลอมให้พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ ของคนในสังคมนั้นๆ หยุดชะงักลง เช่น สังคมที่ยึดมั่นการดำเนินชีวิต ตามขนบธรรมเนียมประเพณีสังคม ที่มีลักษณะเผด็จการ ทำให้คนในสังคม ไม่กล้าคิดนอกกรอบ สังคมที่ไม่เห็นคุณค่าความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยอมรับความคิดที่คนๆ หนึ่งได้สร้างสรรค์ขึ้น และสังคมที่ไม่มีการสอนทักษะการคิดสร้างสรรค์ เช่น การเรียนการสอน ที่เน้นการท่องจำ โรงเรียนไม่มีบรรยากาศ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระ จึงทำให้ผู้เรียนเติบโตขึ้น อย่างขาดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น บริบทแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ มีผลทำให้การพัฒนาความสามารถ ด้านการคิดสร้างสรรค์หยุดชะงักลง
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบ ที่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สอน ในการนำไปประยุกต์เข้ากับ การจัดการเรียนการสอน เพื่อคิดหาเทคนิควิธีการ เพื่อนำมาฝึกฝนให้ผู้เรียน สามารถเป็นนักคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ นั่นหมายความว่า จะต้องเกิดการคิดสร้างสรรค์ เริ่มต้นที่ ผู้จัดการเรียนการสอนโดยตรงเสียก่อน ที่จะไม่ยึดกับกรอบรูปแบบเดิม หากรูปแบบเดิมนั้น ขัดขวางการคิดสร้างสรรค์ในผู้เรียน

ที่มา
เอกสารการสอนของท่านอาจารย์จตุพร ภูศิริภิญโญ

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

คลองสิบสี่

http://www.pininterclub.com/index.php?option=com_content&task=view&id=75&Itemid=53




หมายถึง ข้อกติกาของสังคม ๑๔ ประการที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม มีดังนี้
๑. เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ ให้บริจาคทานแก่ผู้มีศิลแล้วตนจึงบริโภคและแจกจ่ายแบ่งญาติพี่น้องด้วย
๒. อย่าโลภมาก อย่าจ่ายเงินแดงแปงเงินคว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็ง
๓.ให้ทำป้ายหรือกำแพงเอือนของตน แล้วปลูกหอบูชาเทวดาไว้ในสี่แจ(มุม)บ้านหรือแจเฮือน
๔.ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน
๕.เมื่อถึงวันศีล ๗-๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ ให้สมมาก้อนเส้า สมมาคีงไฟ สมมาขั้นบันได สมมาผักตู(ประตู)เฮือนที่ตนอาศัยอยู่
๖. ให้ล้างตีนก่อนเข้านอนตอนกลางคืน
๗. ถึงวันศีล ให้เมียเอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมมาสามี แล้วให้เอาดอกไม้ ไปถวายสังฆเจ้า
๘. ถึงวันศิลดับ ศิลเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสูดมนต์เฮือน แล้วทำบุญตักบาตร
๙. เมื่อภิกษุมาคลุมบาตร อย่าให้เพิ่นคอย เวลาใส่บาตรอย่าซุน(แตะ)บาตร อย่าซูนภิกษุสามเณร
๑๐. เมื่อภิกษุเข้าปริวาสกรรม ให้เอาขันขันข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องอัฐบริขารไปถวายเพิ่ม
๑๑. เมื่อเห็นภิกษุ เดินผ่านมาให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยเจรจา
๑๒. อย่าเงียบ(เหยียบ)เงาพระสงฆ์
๑๓. อย่าเอาอาการเงื่อน(อาหารที่เหลือจากการบริโภค)ทานแก่สังฆเจ้าและอย่าเอาอาหารเงื่อนให้สามีตัวเองกิน
๑๔. อย่าเสพกามคุณในวันศิล วันเข้าวัดสา วัดออกพรรษา วันมหาสงกรานต์และวันเกิดของตน



12.เดือนสิบสอง บุญกฐิน

การทำบุญกฐิน เป็นการถวายผ้าแต่สงฆ์ซึ่งจำพรรษาแล้ว ชาวอีสานทำบุญกฐินตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองเช่นเดียวกับทางภาคกลางการทอดกฐินมีมาแต่โบราณกาล เพราะมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้า และรับกฐินได้ตามกำหนดเวลาดังกล่าวบุญกฐินทางภาคอีสานมีวิธีการกับการทอดกฐินในภาคกลางแทบทุกประการ คือ มีกฐินราษฏร์ ได้แก่ กฐินที่ประชาชนร่วมกันจัดให้มีขึ้น และกฐินหลวง ได้แก่ กฐินที่ทางราชการจัดขึ้น แม้จะเป็นกฐินที่ข้าราชการในระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอร่วมกันจัดขึ้น ชาวบ้านมักเรียกว่า กฐินหลวงเช่น กัน นอกนี้ จุลกฐินซึ่งสาวอีสานเรียกว่า กฐินแล่น มูลเหตุที่มีการทำบุญกฐิน มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน 30 รูป พากันเดินทางจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ พระเชตวันมหาวิหาร แต่เนื่องจากการเดินทางเป็นวันที่จวนใกล้กำหนดเข้าพรรษาทั้งหนทางระยะไกลและลำบาก พระภิกษุเหล่านั้นจึงไม่สามารถไปให้ถึงพระเชตวันมหาวิหารได้ ก็พอดีกำหนดเข้าพรรษาเสียก่อน พระภิกษุทั้ง 30 รูป จึงต้องหยุดจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตออกพรรษาแล้วจึงพากันรีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่โดยเหตุที่หนทางไกลดังกล่าว และพอดีฝนตกจึงทำให้ผ้าจีวรของพระภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำและเปื้อนโคลนตมมาก พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหาร ก็พากันตรงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที พระพุทธเจ้าทรงเห็นพระภิกษุที่มาเฝ้านุ่งห่มจีวรเปื้อนเปรอะ และจีวรที่จะใช้ผลัดเปลี่ยนก็ไม่มี เมื่อพระองค์ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเช่นนั้น จึงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้มีกำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ถึงวันเพ็ญ เดือนสิบสองดังกล่าวข้างต้น จึงมีประเพณีทอดกฐินกันต่อ ๆ มา วิธีดำเนินการ ก่อนถึงวันทอดกฐิน ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาจะทอดกฐิน จะไปเลือกหาวัดที่จะทอดเมื่อหาได้แล้วก็ไปจองไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทางวัดรู้ตัว และมีเวลาเตรียมรับรองในวันทอด ทั้งจะไม่เป็นการทอดกฐินซ้ำกันในวัดนั้นด้วย วัดที่จองส่วนมากเป็นวัดที่อยู่ในหมู่บ้านอื่นแต่บางทีก็เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านจะทำบุญก็มีเมื่อถึงวันทอดกฐินชาวบ้านหรือผู้จะทำบุญกฐิน ตระเตรียมองค์กฐิน ที่จำเป็นต้องมีก็ได้แก่ผ้าไตรจีวรหรือผ้าสามผืน คือ สบง จีวร และสังฆาฏิ หรืออัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิผ้าสบง สายรัดประคด มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ บาตร เข็มเย็บผ้า และธมกรก (เครื่องใช้กรองน้ำให้สะอาด)
นอกนี้อาจมีบริขารอื่น ๆและเครื่องไทยทานสำหรับถวายพระ ส่วนมากมีการบอกบุญให้ญาติมิตรและผู้รู้จักคุ้นเคยให้มาร่วมทำบุญด้วยก่อนจะนำองค์กฐินไปทอดมักมีการคบงันด้วยมหรสพต่าง ๆ แล้วแต่เจ้าภาพจะจัด พอวันรุ่งขึ้นก็เคลื่อนกระบวนออกเดินทางไปสู่วัดที่จะทอด กะเวลาให้ถึงวัดทันเลี้ยงเพลพระ ก่อนเลี้ยงเพลพระหรือเสร็จเลี้ยงเพลพระแล้วจะได้ทอดกฐิน ถ้าเป็นวัดอยู่ระยะทางไกล ก็ต้องเคลื่อนกระบวนเดินทางไปแต่เช้ามืดเพื่อให้ทันเวลา บางแห่งต้องเดินทางไปล่วงหน้าโดยนอนค้างคืนที่หมู่บ้าน หรือวัดที่จะทอดกฐินหนึ่งคืนขณะที่จะทำการทอดมักมีการแห่แหนกันคึกคืนสนุกสนานถ้าเป็นทางบกก็ไปโดยเดินเท้า รถยนต์ และล้อเกวียน เป็นต้น กระบวนแห่จะมีกลอง ฆ้อง และเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น แคน แตรวง ฯลฯ และมีการร้องรำทำเพลงไปด้วย ขณะองค์กฐินผ่านไป ชาวบ้านจะมาคอยต้อนรับและนำปัจจัยมาร่วมบริจาคทาน บางทีก็ร่วมกระบวนแห่ไปด้วย เมื่อถึงวัดหากมีเวลาอาจทอดกฐินทันทีหรือไม่ก็จะเลี้ยงเพลพรเณรและเลี้ยงบรรดาผู้มาแห่ แล้วจึงอดกฐิน โดยชาวบ้านเจ้าของวัดเป็นเจ้าภาพ ได้เวลาทอดกฐินพระสงฆ์ลงโบสถ์ ผู้ไปร่วมงานบุญชุมนุมกันแล้วจัดขบวนแห่ มีคนเดินตามกันเป็นแถวยาวยืดเสียงแห่ครื้นไปทั่วบริเวณวัดทำประทักษิณเวียนรอบโบสถ์สามรอบ แล้วจึงเข้าโบสถ์ทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริขารเป็นเสร็จพิธี สำหรับการทอดกฐินที่เจ้าภาพอยู่ห่างไกล ซึ่งจำเป็นต้องมาพัก ณ หมู่บ้านหรือวัดที่จะทอดกฐิน หรือเจ้าภาพที่จะทอดกฐินอยู่ในหมู่บ้านนั้นเอง กำหนดการทอดกฐินดังกล่าวบางทีร่นมาตอนเช้า คือ เมื่อถวายอาหารบิณฑบาตตอนเช้าเสร็จ ก็จะทำพิธีแห่และนำกฐินไปถวายเลยก็ได้ที่กล่าวมานี้ เป็นการทอดกฐินโดยทั่วไป ส่วนจุลกฐินหรือกฐินแล่นนั้น นอกจากมีการจัดบริขารต่าง ๆ และทำพิธีทอดดังกล่าวแล้ว การทำผ้าไตรจีวรเพื่อเป็นกฐิน จะต้องเริ่มแต่การนำปุยฝ้ายมาหีบ มาปั่น มากรอเป็นเส้นด้าย แล้วทอเป็นผืนผ้าและตัดเย็บตลอดการย้อมสีเป็นไตรจีวรให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง คือ ให้ทันใช้เป็นผ้ากฐินได้ในวันรุ่งขึ้นกฐินแล่นนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันนักเนื่องจากเป็นการลำบากมากเจ้าภาพจะต้องมีฐานะดีพอสมควร มีญาติพี่น้องคอยให้ความร่วมมือและมีอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม เพราะต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงดูต้องหาเครื่องมือหลายอย่าง ต้องมีญาติพี่น้องคอยให้ความร่วมมือ และมีอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม เพราะจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงดูต้องหาเครื่องมือหลายอย่าง และต้องมีญาติพี่น้องมาช่วยกันหลายคน จึงจะทำได้จุลกฐินหรือกฐินแล่น มักทำกันเมื่อจวนหมดเขตบุญกฐิน และถือว่าการทอดกฐินอย่างนี้ได้อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินธรรมดาเป็นสิบเท่า การทอดกฐินของชาวภาคอีสาน สิ่งที่เห็นแปลกไปกว่าภาคกลาง คือ การแปลงทางกฐิน ได้แก่การปรับตกแต่งถนนหนทางที่ขบวนกฐินจะผ่านไปให้สะอาดเรียบร้อยสวยงาม เพื่อให้ขบวนแห่กฐินเดินทางไปด้วยความสะดวก ชาวบ้านเมื่อรู้ว่าจะมีกฐินมาทอดหมู่บ้านของตนก็จะพากันไปช่วยกันถากถางหนทางที่องค์กฐินจะผ่านแม้ทางระหว่างหมู่บ้านหนึ่งกับอีกหมู่บ้านหนึ่งก็พากันไปถางตามหนทาง และพยายามซ่อมแซมถนนหนทางให้เรียบร้อยเพราะถือว่าการทำทางกฐินผ่านนี้ได้กุศลแรงมาก ชาวบ้านจึงนิยมสละแรงงาน และทรัพย์ช่วยกันจัดทำ โดยเหตุนี้เมื่อหมู่บ้านใดทางไปมายังไม่ค่อยสะดวก ผู้มีจิตศรัทธาบางท่าน จึงมักนำกฐินไปทอดเพื่อให้ได้กุศลสองอย่าง คือ ได้ทั้งบุญในการทอดกฐินและได้กุศลในการทำให้ทางไปมาสะดวกด้วย เมื่อเตรียมทางเสร็จในวันขบวนกฐินผ่าน ชาวบ้านจะปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อยและไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ ตามสองข้างทางในละแวกหมู่บ้านติดต่อกันไปจนถึงเขตทางเข้าวัด และชาวบ้านบางแห่งจะเอาผ้าปูบนเส้นทางที่ขบวนกฐินจะผ่านไปด้วยที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า บุญกฐินเป็นงานบุญสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากเป็นการถวายจีวรและบริขารต่าง ๆแด่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังจะได้ปัจจัยบูรณะบำรุงวัดและได้ประโยชน์อย่างอื่น รวมทั้งเป็นการก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมในหมู่ประชาชนให้เกิดขึ้นด้วย จึงควรสนับสนุนให้คงมีอยู่ตลอดไป

คำถวายผ้ากฐิน
(แบบธรรมยุต)อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสังปะฏิคคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตวา จะ อิมนา ทุสเสนะ กฐินะ อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรเพื่อกฐินกับทั้งบริวารเหล่านี้อันประกอบด้วยธรรม อันได้มาโดยชอบธรรม แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงให้โอกาสรับ ผ้าจีวรเพื่อกฐินกับทั้งบริวารนี้ครั้นรับแล้ว ขอจงปราบกฐิน ด้วยผ้าจีวรนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

11.เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา


บุญออกพรรษาจัดทำในวันนั้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ในวันนี้ในตอนเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรหรือตักบาตรเทโว และจัดอาหารคาวหวานไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร บางวัดก็มีการกวนข้าวทิพย์ถวาย มีการรับศีลสวดมนต์ทำวัตรเข้า ฟังเทศน์ และผู้มีจิตศรัทธาที่จะถวายผ้าจำพรรษา ก็นำไปถวายแด่พระภิกษุตอนนี้ด้วย (ผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ภิกษุจะได้รับเมื่อจำพรรษาแล้ว มีเวลาที่จะถวายและรับได้ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ดถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่ แต่ที่นิยมทำกันมีถวายผ้าดังกล่าวในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด) ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ดนี้พระสงฆ์จะรวมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่อาจให้โอวาทพระสงฆ์ด้วย และตอนค่ำมีการจุดไต้ประทีป การไต้ประทีปมีทั้งใช้ยางบงซึ่งผสมในอ้มในเนียมเพื่อให้มีกลิ่นหอม โดยใช้ไม้ไผ่ที่เหล่าจุ่มยางบงหลาย ๆครั้ง ตากแดดให้แห้ง เวลาจุดใช้เสียบกับต้นกล้วย นอกนี้ใช้น้ำมันและน้ำมันพืช เช่น น้ำมันเมล็ดกระบก หมากเยา (สลอด) น้ำมันหมากแตก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่งและน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ การจุดไต้ประทีปอาจใช้ไม้ไผ่ ลูกมะตูมกา ขวด กระป๋อง กะลามะพร้าวหรือสิ่งอื่น ๆ เอาไปแขวนไว้ตามต้นไม้หรือวางไว้ตามร้านที่ทำขึ้น ตามกิ่งไม้ต้นไม้ รั้วหรือกำแพงรอบ ๆ บริเวณวัดประทีปที่จุดแล้วนี้จะทำให้แลดูสว่างไสวไปทั้งวัดสวยงามมาก และมีการจุดประทัดเสียงตูมตามด้วย มูลเหตุที่จะมีบุญออกพรรษา คงเนื่องจากพระภิกษุสามเณรได้มารวมกันอยู่ที่วัดใดหนึ่งโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะไปค้างคืนหรือจำที่วัดที่อื่นไม่ได้เป็นเวลาสามเดือนพอดี พระสงฆ์จึงได้ทำพิธีออกวัสสาปวารณาดังกล่าวทั้งภายหลังออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสามเณรส่วนมากมักจะแยกกันไปในที่ต่าง ๆ ได้ตามใจชอบและพระภิกษุสามเณรบางรูปอาจลาสิกขาบท เมื่อถึงวันก่อนที่พระภิกษุสามเณรจะแยกย้ายกันไปเช่นนี้ ชาวบ้านจึงถือเป็นวันสำคัญถือโอกาสทำบุญถวายภัตตาหารและบริขารต่าง ๆ แด่พระภิกษุสามเณรที่วัดเป็นพิเศษ เพราะภายหลังวันออกพรรษาแล้วจะหาโอกาสที่พระภิกษุสามเณรอยู่พร้อมเพรียงกันเช่นนี้ยาก และในวันออกพรรษานี้ อากาศเริ่มสดชื่นเย็นสบายเนื่องจากฝนเริ่มตกน้อยลง อากาศก็จวนเริ่มเข้าฤดูหนาว การคราดไถนาตกกล้าหว่านดำนาของชาวบ้านก็เสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงหมดภาระในการทำไร่ทำนาไปตอนหนึ่ง ทั้งข้าวกล้องในนากำลังเขียวชอุ่มและเริ่มออกรวง ประกอบกับอากาศแจ่มใส ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีความสุขสบายกายสบายใจ จึงถือโอกาสทำบุญในวันออกพรรษานี้โดยพร้อมเพรียงกัน
ในวันออกพรรษามักจะมีพิธีอื่น ๆ ประกอบอีก คือ
1. การถวายต้นดอกเผิ้งหรือปราสาทผึ้ง การทำต้นดอกเผิ้งชาวบ้านเอาไม้ไผ่มาจักตอนสานและทำเป็นรูปปราสาท แล้วเอากาบกล้วยมาแทงหยวกเป็นลวดลายอย่างสวยงามปิดและมุง เอาขี้ผึ้งไปต้มให้เปื่อย เอาผลมะละกอดิบมาแกะสลัก ติดด้ามด้วยไม้ จุ่มลงในน้ำผึ้งแล้วจุ่มลงในน้ำเย็น ทำเป็นรูปดอกไม้ซึ่งเรียกว่า "ดอกเผิ้ง" ตรงกลางมีขมิ้นทำเป็นเกสร เอาไม้มาเสียงเกสรติดกับดอกเผิ้ง แล้วเอาไปเสียบติดกันกาบกล้วยที่ต้นปราสาทจัดระยะถี่ห่างอย่างสวยงาม ข้างในหอปราสาทมีขนมข้าวต้ม กล้วยอ้อย เสื่อหมอน ฯลฯ ข้างนอกแขวนและประดับประดาด้วยผ้าแพร กระดาษดินสอ ไม้ขีด ฝ้ายไหม ฯลฯ พร้อมปัจจัย ตอนเย็นหรือค่ำก็แห่กันอย่างสนุกสนานครึกครื้นไปที่วัด เวียนรอบศาลาโรงธรรม 3 รอบ แล้วนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อทำพิธีถวายเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ฉลองต้นเผิ้งและพระกล่าวคำอนุโมทนาให้พรเป็นเสร็จพิธี การทำต้นเผิ้งส่วนมากชาวบ้านรวมกันทำเป็นกลุ่ม ๆ แล้วแต่ศรัทธา วัดหนึ่ง ๆ มักมีการถวายต้นดอกเผิ้งจำนวนหลาย ๆ ต้น มูลเหตุที่จะมีการถวายต้นดอกเผิ้ง มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่ป่ารักชิตวันมีช้างและลิงเป็นผู้อุปฐาก ช้างเป็นผู้มีหน้าที่ตักน้ำและต้มน้ำถวาย ส่วนลิงทำหน้าที่หาผลไม้ รวงผึ้งและน้ำผึ้งมาถวายรวงผึ้งที่คั้นเอาน้ำผึ้งถวายพระพุทธเจ้าฉันแล้ว เหลือแต่ขี้ผึ้งมีผู้เห็นประโยชน์จึงนำไปทำเทียนมาถวายและได้ทำเป็นต้นตกแต่งประดับประดาให้สวยงามแล้วแห่ไปถวาย ซึ่งกลายเป็นต้นปราสาทผึ้ง การถวายต้นดอกเผิ้งหรือปราสาทผึ้งจึงเป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านานจนกระทั่งทุกวันนี้
2. การล่องเฮือไฟ คือ เรื่อหรือแพที่ทำด้วยห่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ ยาวประมาณ 3-4 เมตรหรือยาวกว่านี้ ทำร้านหรือราวขึ้นสำหรับจุดไต้และเสียบธูปเทียน เฮือไฟอาจยกโครงขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้แก่ รูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า จระเข้ พญานาค ฯลฯ หรือรูปปราสาท บ้านเรือน เป็นต้น และตกแต่งอย่างสวยงาม มูลเหตุที่มีการล่องเฮือไฟ จุดประสงค์เพื่อเป็นการบูชาและคารวะแม่คงคา และสักการะพระพุทธบาทนัมทานที แล้วน้อมจิตอธิษฐานขอให้ผู้บูชาประสบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งขึ้นไป พิธีจัดทำ พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด หรือแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ชาวบ้านและพระภิกษุสามเณรช่วยกันทำเฮือไฟลอยไว้ริมน้ำ ถึงตอนใกล้เที่ยงถวายภัตตาหารเพลที่ท่าน้ำหรือถวายที่วัดก็ได้ ตอนบ่ายมีการเล่นฟ้อนรำฉลองเฮือไฟ ตอนเย็นมีการฟังพระสวดมนต์และฟังเทศน์ที่วัด พอค่ำชาวบ้านนำเครื่องบริขารต่าง ๆ เช่น ขนม ข้าวต้ม กล้วย อ้อย หมากพลูบุหรี่ ฯลฯ ใส่กระตาดหรือกระทงบรรจุไว้ในเฮือไฟ แต่บางแห่งคงมีแต่ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้นไปวางไว้ที่เฮือไฟ ครั้งได้เวลา คือ ประมาณ 1 ถึง 2 ทุ่ม ก็จุดได้ หรือคบเพลิง ซึ่งประดับไว้ในเฮืดไฟให้สว่าง ชาวบ้านจุดธูปเทียนเป็นพุทธบูชาและคารวะแม่คงคา อธิษฐานให้มีความสุขความเจริญเสร็จแล้ว นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางหรือปักไว้ในเฮือไฟแล้ว จึงปล่อยเฮือไฟออกจากฝั่ง ลอยไปตามลำแม่น้ำแลดูสว่างไสวและเป็นทิวแถวสวยงามมาก
3. การส่วงเฮือ การส่วงเฮือ หมายถึง การนำเรือมาแข่งกันด้วยฝีพาย ชาวอีสานจะกำหนดแข่งเรือกันในวันใดวันหนึ่ง ระหว่างเดือนสืบถึงเดือนสิบสอง ระหว่างเข้าพรรษาหรือภายหลังนั้นเล็กน้อย เช่น ในวันทำบุญข้าวสาก บางแห่งนิยมจัดแข่งขันกัน ในวันออกพรรษาและยึดเวลาไปถึงเดือนสิบสองก็มี เรือที่แข่งคือ เรือขุดบรรจุคนได้ตั้งแต่ 20 คน ถึง 150 คน วัดใดหรือหมู่บ้านใดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ หรือลำคลองมักมีเรือแข่งไว้เป็นประจำเมื่อถึงวันแข่งชาวบ้านจะประกาศหรือนัดให้คนหมู่บ้านอื่นที่มีเรือแข่งมาก "ส่วงเฮือ" กันเป็นประเพณีที่ทำให้ผู้มาร่วมงานสนุกสนาน ได้มีโอกาสพบปะวิสาสะกัน จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง เช่น หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี และจังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) มักจัดประเพณีส่วงเฮืดกันทุกไปและจัดทำใหญ่โตมีการแข่งขันกัน
คำถวายผ้าจำนำพรรษา
อิมานิ มะยังภันเต วัสสาวาสิกานิ สังฆัสสะ โอโรฃณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมานิ วัสสาวาสิกานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจำพรรษาเหล่านี้ แก่พระสงฆ์ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ให้โอกาสรับผ้าจำนำพรรษาเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ
คำถวายปราสาทผึ้ง
มะยัง ภันเต อิมัง สะปะริวารัง มะธุปุบผะปาสาทัง อิมัสมิง วิหาเร สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง มะธุปุปผะปาสาทัง ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตะอาทีนัง ญาตะกานัญจะกาละกะตานัง ทีฆะรัตตัง สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ปราสาทผึ้งกับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ในวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงให้โอกาสรับปราสาทผึ้ง กับทั้งบริวารนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น ผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดกาลนานเทอญ

10.เดือนสิบ บุญข้าวสาก

บุญข้าวสากหรือข้าวสลาก ( สลากภัต ) นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต บางท่านว่าเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้เปรตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเวลาห่างจากเวลาบุญข้าวประดับดิน 15 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เปรตต้องการกลับไป ณ ที่อยู่ของตน ก่อนการทำบุญข้าวสากชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่นๆ ตลอดผลไม้ต่างๆ ไว้ทำบุญอย่างคึกคักในวันงาน สำหรับข้าวเม่า ข้าวพองและข้าวตอกนั้น จะคลุกเข้ากันและใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก
( ภาคกลางเรียกว่าข้าวกระยาสารท ) แต่บางแห่งข้าวเม่า ข้าวพองและข้างตอกมิได้คลุกเข้าด้วยกันคงแยกไปทำบุญเป็นอย่างๆ ไปตามเดิม เมื่อเตรียมของทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องและผู้รักใคร่นับถืออาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ แล้วแต่สะดวก สิ่งของเหล่าสี้มักแลกเปลี่ยนกันมาระหว่างญาติพี่น้องและชาวบ้านที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ถือว่าเป็นได้บุญและเป็นการผูกมิตรไมตรีกันไปในตัวด้วย มูลเหตูที่มีการทำบุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า มีบุตรชายกฎุมพีผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุและตระกูลเสมอกันมมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและเมียน้อยเสีย ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดีปีไหนฝนจะตกดีปีไหนฝนจะตกไม่ดีจะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอิสานจึงถือเอาการถวายสลากภัตหรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมาและเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุและวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า " ตาแฮก "
วิธีดำเนินการ พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ ตอนเช้าชาวบ้านจะพากันนำอาหารคาวหวานต่างๆ ไปทำบุญตักบาตรที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน และถวายทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นก็กลับบ้าน แต่บางคนอาจอยู่วัดจำศีล ภาวนาและฟังเทศน์ก็มีต่อมาพอสายพอจวนเพล ชาวบ้านจะนำเอาข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ ไปวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยเอาอาหารต่างๆ จัดเป็นสำรับหรือชุดสำหรับถวายทานหรือถวายเป็นสลากภัต การถวายอาหารตอนนี้จัดใส่ภาชนะต่างๆแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งจัดใส่ถ้วย ชามถวาย บางแห่งใช้ทำเป็นห่อ ทำเป็นกระทงด้วยใบตองกล้วยหรือกระดาษ บางแห่งใส่ชะลอม ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่และกรุด้วยใบตองกล้วยหรือกระดาษ บ้านหนึ่งๆจะจัดทำสักกี่ชุดแล้วแต่ศรัทธา ประเพณีบุญข้าวสารที่นิยมทำกันอีกอย่างหนึ่ง คือ สลากภัต อาจทำได้หลายวิธี คือวิธีหนึ่ง ก่อนจะนำของถวายพระชาวบ้านจะจับสลากชื่อพระภิกษุสามเณรก่อน สลากที่จับถูกชื่อพระภิกษุสามเณรรูปใด ก็นำของไปถวายแต่พระภิกษุสามเณรรูปนั้น วิธีหนึ่ง ผู้ถวายจะเขียน ชื่อของตนใส่ลงในบาตร พระภิกษุสามเณรรูปใด ได้สลากของผู้ใด ผู้นั้นก็นำของไปถวายข้าวสากกี่ชุด จะเขียนชื่อเจ้าของข้าวสากพร้อมจำนวนชะลอมหรือท่อหรือทา และคำอุทิศส่วนกุศล ใส่กระดาษไปด้วย เมื่อชาวบ้านไปพร้อมกันที่วัดแล้ว จะนำเอาสลากนั้นไปใส่ลงในขันหรือบาตรรวมกันคลุกให้เข้ดีแล้ว จะมีการจับสลากขึ้นมาทีละใบ เมื่อจับสลากถูกใบใด ก็จะมีการอ่านชื่อผู้เจ้าของสลากพร้อมคำอุทิศส่วนกุศล พออ่านจบเจ้าของข้าวสากจะนำห่อ ชะลอมหรือสำหรับอาหารต่าง ๆ ไปถวายพระภิกษุสงฆ์การจับสลากใบแรก ประชาชนบางตำบลหมู่บ้านให้ความสนใจและตื่นเต้นเป็นพิเศษ ว่าปีนั้นจะจับสลากถูกใครก่อนคนอื่น เพราะเชื่อถือกันว่า ถ้าปีได้จับสลากคนแรกเป็นคนฐานะยากจน มักจะทำนายว่า ปี่นั้นมักจะหากินไม่คอยได้ผลดี เช่น ข้าวกล้าในนา จะไม่งอกงาม เป็นต้น แต่ถ้าปีใดจับสลากถูกคนที่มีฐานะดี ก็มักจะทำนายว่า ประชาชนในละแวกนั้นจะอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ไม่อดอยาก นอกนี้บางแห่งชาวบ้านยังนิยมเอาห่อหรือชะลอมข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้เปรตหรือญาติผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่าง ๆ ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่อุทิศให้ด้วย เมื่อถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณรและนำอาหารไปวางไว้บริเวณวัดเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตและญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย เป็นอันเสร็จพิธี นอกจากนี้ผู้ที่มีนาจะนำข้าวสารไปเลี้ยง "ตาแฮก" ที่นาขอบตน ดังกล่าวแล้วข้างต้น
คำถวายสลากภัต

อิมานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภักขุสังโฆ อิมานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัง ญาตะกานัณจะกาละ กะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายกับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงให้โอกาสรับซึ่งสลากภัต กับทั้งบริขารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย และญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น ซึ่งล่วงลับไปแล้วตลอดกาลนานาเทอญ

9.เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน


บุญข้าวประดับดินนิยมทำกันในแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า บุญข้าวประดับดินเป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต (ชาวอีสานบางทีเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดินได้แก่ ข้าวและอาหารหวานคาวพร้อมหมากพลูบุหรี่ที่ห่อด้วยใบตองกล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้หรือวางไว้ตามพื้นดินหรือที่ใดที่หนึ่งในบริเวณวัด พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว มารับเอาอาหารที่อุทิศให้ต่อมาภายหลังนิยมนำภัตตาหารถวายแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายโดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย มูลเหตุที่จะมีการทำบุญข้าวประดับดิน มีเรื่องเล่าว่า ครั้งพุทธกาลบรรดาญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์ ตายไปแล้วไปเกิดเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้ว มิได้ทรงอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้บรรดาเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น เมื่อเปรตมิได้รับผลบุญ ถึงเวลากลางคืนพากันมาส่งเสียงน่ากลัว เพื่อขอส่วนบุญอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชนิเวศน์ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้ยินเช่นนั้น พอรุ่งเช้าจีงเสด็จไปทูลถาม สาเหตุจากพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าจึงทรงแจ้งถึงสาเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว จึงถวายทานแล้วอุทิศส่วนกุศลซึ่งได้ทำไปให้เปรต ตั้งแต่นั้นมาบรรดาเปรตเหล่านั้นก็ไม่มารบกวนอีกเพราะเปรตที่เป็นญาติได้รับผลบุญแล้ว ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ทำบุญข้าวประดับดินติดต่อกันมา

วิธีดำเนินการ พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหารมีทั้งคาวหวาน ได้แก่ เนื้อปลาเผือกมัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลูบุหรี่ไว้ให้พร้อมเพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสมเณรบ้าง ส่วนสำหรับอุทิศให้ญาติที่ตายใช้ห่อด้วยใบตองกล้ายคาวห่อหนึ่ง หวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่ง เย็บหุ้มปลายแต่บางคนใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มีหรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะมากน้อย ก็แล้วแต่ศรัทธา พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหารหมากพลูบุหรี่ที่ห่อหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลาวัดตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ในบริเวณวัด พร้อมพับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาของและผลบุญด้วย บางหมู่บ้านจะเอาอาหารที่อุทิศให้แก่ผู้ตายเสร็จแล้วนี้ฝังไว้ในดินก็มี เพื่อไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งมากินอาหารที่เป็นเดนเปรตเพราะกลัวจะกลายเป็นเปรตไปด้วย การวางอาหารไว้ตามพื้นดินหรือตามที่ต่าง ๆ เพื่อจะให้พวกเปรตมารับเอาของที่อุทิศให้ได้ง่ายโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองนัก เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปตักบาตรและถวายทานแต่พระภิกษุสามเณร มีการสมาทานศีลฟังเทศน์และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาวหวานหมากพลูบุหรี่ไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดิน

คำถวายสังฆทาน

(ข้าวประดับดิน)อิมานิ มะยัง ภันเต ปิณฑะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปิณฑะภัตตานิ สะปะริวานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะ รัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวและอาหาร (ข้าวประดับดิน) กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวและอาหาร (ข้าวประดับดิน) พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

8.เดือนแปด บุญเข้าพรรษา


บุญเข้าพรรษาถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนแปดเป็นวันทำบุญ เป็นประเพณีที่ถือมาแต่โบราณครั้งพุทธกาล เพราะในฤดูฝน เมื่อฝนตกหนทางไปมาไม่สะวก เป็นการลำบากในการที่พระภิกษุจะสัญจรไปมา และบางครั้งพระภิกษุอาจเดินเข้าไปในเรือกสวนไร่นาเหยียบย่ำพืชผักของชาวบ้านเสียหาย จึงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำที่หรือเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด เพื่อให้พระภิกษุสามเณรอยู่เป็นที่โดยเหตุผลดังกล่าวและในระหว่างเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจะได้ถือโอกาสเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่าง ๆ เพื่อจะนำไปสั่งสอนพุทธศาสนิกชนต่อไปด้วย ในระหว่างเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจะไปพักค้างคืนที่อื่นไม่ได้นอกจากไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือการไปค้างคืนนอกวัดในระหว่างอยู่จำพรรษาของพระเมื่อมีเหตุจำเป็นได้แก่

1. สหธรรมิก (ผู้มีธรรมอันร่วมกัน) หรือมารดาบิดาป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาล

2. สหธรรมิกกระสันจะสึก ไปเพื่อระงับ

3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุด ไปเพื่อปฏิสังขรณ์

4. ทายกบำเพ็ญกุศล สงมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้ธุระอื่น นอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะอนุโลมตามนี้ก็ไปค้างที่อื่นได้ และการไปในกรณีดังกล่าว ต้องกลับมาภายใน 7 วัน หมายความว่าไปได้ไม่เกิน 7 วันนั้นเอง มูลเหตุที่จะมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์เข้าพรรษา เรื่องมีอยู่ว่าครั้งพุทธกาลเพื่อพระพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า "ฉัพพัคคีย์" เที่ยวไปมาตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ไม่ได้หยุดพักเลย เมื่อคราวฝนตกแผ่นดินชุ่มด้วยน้ำฝน ก็เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าและหญ้าระบัดเขียว ทั้งสัตว์เล็กๆ เป็นอันตรายประชาชนทั่วไปพากันติเตียนว่า แม้แต่พวกเดียรสถีย์ปริพาชกเขายังหยุด ที่สุดแม้นกยังรู้จักทำรังอาศัยบนยอดไม้หลบหลีกฝน แต่พระสมณะศากยบุตรทำไมจึงเที่ยวอยู่ได้ทั้งสามฤดู เหยียบหญ้าและต้นไม้ที่เป็นของชีวิตอยู่ ทั้งทำสัตว์ทั้งหลายให้ตายเป็นอันมากเช่นนี้ เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินคำตำหนิติเตียนเช่นนั้น จึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ตอนนี้เรียกว่าพรรษาแรกแต่ถ้าพระภิกษุรูปใดไม่สามารถเข้าพรรษาได้ตามกำหนดดังกล่าว อาจเข้าพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเก้าเป็นต้นไปจนครบ 3 เดือนก็ได้ เรียกว่าพรรษาหลังในระหว่างเข้าพรรษาให้พระภิกษุอยู่ในวัดแห่งเดียวไม่อนุญาตให้ไปพักแรมที่อื่นตลอด 3 เดือน ถ้าพระภิกษุเที่ยวไปกลางพรรษา หรืออธิษฐานจำพรรษาแล้ว อยู่ครบ 3 เดือนไม่ได้ ต้องอาบัติทุกกฎเว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ปรกติไปได้ไม่เกิน 7 วัน ประเพณีให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา คือ อยู่ในวัดแห่งเดียวไปค้างที่ไหนไม่ได้ 3 เดือน จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิธีดำเนินการ เมื่อถึงวันทำบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาต่างก็จัดอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ไปถวายพระ บางคนก็นำสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ มี ไตรจีวร ตั่งเตียง ยารักษาโรค ผ้าห่มนอน ตะเกียง ธูปเทียนเป็นต้นไปถวาย โดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง น้ำมัน เป็นต้น ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื่อว่าการถวายทานแสงสว่างแด่พระภิกษุสงฆ์จะได้อานิสงส์แรงทำให้ตามทิพย์และสติปัญญาดี ก่อนวันเข้าพรรษา ทางวัดจะเที่ยวบอกบุญชาวบ้านขอให้ไปหาขี้ผึ้งมาหล่อเป็นเทียนโดยจัดทำเป็นเล่มหรือแท่งขนาดใหญ่ และทำเป็นต้น เรียกว่า ต้นเทียน มีการประดับประดาอย่างสวยงาม พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนแปด ก็พากันแห่ไปถวายวัด บางแห่งแบ่งการหล่อเทียนออกเป็นคณะ ก่อนนำไปถวายวัดมีการประกวดต้นเทียนกันด้วย ขบวนต้นเทียนที่จัดเป็นคณะ มีการฟ้อนรำและการละเล่นพื้นเมืองประกอบ สนุกสนานเฮฮากัน เมื่อไปถึงวัดก็มีการทำพิธีถวายเทียน ผ้าอาบน้ำฝน และบริวารอื่น ๆ แต่พระภิกษุสามเณรและมีการฟังเทศน์ด้วยบางแห่งชาวบ้านชายหญิงเข้าโบสถ์สวดบทธรรมเป็นทำนองสรภัญญ์ เริ่มแต่อาราธนาศีล อาราธนาธรรม ตลอดจนบทเรียนเกี่ยวกับการประพฤติการปฏิบัติ และพรรณาถึงคุณของผู้มีอุปการคุณ ซึ่งมีท่วงทำนองไพเราะจับใจมากทำให้ผู้สวดและผู้ฟังจิตใจสงบสุข บางหมู่บ้านอาจมีสวดสรภัญญ์แข่งขันกัน ผ้าอาบน้ำฝน คือผ้าที่พระภิกษุใช้นุ่งอาบน้ำ สีอนุโลมตามสีจีวร ขนาดยาว 4 ศอก 1 กระเบียด กว้าง 1 ศอก 1 คืบ 1 กระเบียด 2 อนุกระเบียด ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเจ็ด ถึงกลางเดือนแปดเป็นเวลาที่พระภิกษุแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ผู้มีศรัทธาอาจถวายผ้าอาบน้ำฝนได้ ตามกำหนดนี้โดยมากนิยมถวายกันในวันเพ็ญเดือนแปด มูลเหตุที่มีการถวายผ้าอาบน้ำฝน เดิมพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เพียงผ้า 3 ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าห่ม 1 และผ้านุ่ง 1 ครั้งถึงฤดูฝนพระภิกษุบางรูปจะอาบน้ำฝนไม่มีผ้าจะนุ่งอาบ จึงเปลือยกายอาบน้ำ วันหนึ่งนางวิสาขาใช้สาวใช้ไปวัดขณะฝนตก สาวใช้เห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน จึงกลับมาเล่าให้นางวิสาขาฟัง นางวิสาขาจึงกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝน พระองค์จึงทรงอนุญาตเขตกำหนดแสวงหาผ้าและเวลาให้ผ้าอาบน้ำฝน ให้พระภิกษุถือเป็นกิจวัตรปฏิบัติตั้งแต่นั้นมา

คำถวายเทียนและคำถวายผ้าอาบน้ำฝน มีดังต่อไปนี้
คำถวายเทียน

อิมานิ มะยัง ภันเต ปะทีปัง สะปะริวารัง ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกษุสังโฆ อิมานิ ปะทีปัง สะปะริวารัง ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับเทียนและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

คำถวายผ้าอาบน้ำฝน

อิมานิ มะยังภันเต วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหาหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ